PR9 เปิดศูนย์ผ่าตัด “ไทรอยด์” ชูเทคโนโลยีทันสมัย ลดอาการบาดเจ็บ-แผลหายเร็ว
PR9 เปิดศูนย์ผ่าตัด "ไทรอยด์" ชูเทคโนโลยีรักษาทันสมัย-ลดอาการบาดเจ็บ แผลหายเร็ว ไร้แผลเป็น ด้วยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการ
บริษัท โรงพยาบาลพระรามเก้า จำกัด (มหาชน) หรือ PR9 เปิดเผยว่า โรงพยาบาลพระรามเก้าเปิดศูนย์ไทรอยด์และผ่าตัดไทรอยด์ ยกระดับการรักษาโดยทีมแพทย์สหสาขามากประสบการณ์ด้านโรคไทรอยด์และโรคทางต่อมไร้ท่อ พร้อมด้วยเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย ชูเทคนิคการผ่าตัดแบบส่องกล้องทั้งทางรักแร้ และการผ่าตัดแบบส่องกล้องทางช่องปาก เป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาเพื่อลดอาการบาดเจ็บ แผลหายเร็ว ไร้แผลเป็นที่กลางคอ
ด้านทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคต่อมไร้ท่อและโรคไทรอยด์ กล่าวว่า “โรคไทรอยด์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคไทรอยด์ต่ำ โรคเนื้องอกไทรอยด์ และโรคมะเร็งไทรอยด์ มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ประมาณ 5-10 เท่า ผู้ป่วยบางรายมีภาวะโรคไทรอยด์ที่ไม่มีอาการแสดงใดๆ เช่น เป็นไทรยอด์เป็นพิษ เหนื่อยง่าย แต่ไม่ทราบสาเหตุ อาการแสดงไม่ชัดเจน เป็นเหตุให้ในบางครั้งไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งอาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อนมากมาย หรือโรคเนื้องอกไทรอยด์ ถือว่าเป็นโรคที่ไม่มีอาการ จนกระทั่งโรคเป็นมามากแล้ว เช่น กดเบียดหลอดลม กดเบียดหลอดอาหาร ขนาดใหญ่ยื่นลงไปในช่องอก หรือ เป็นมะเร็งไทรอยด์แล้วมีการลุกลาม เราจึงได้เปิดศูนย์ไทรอยด์และผ่าตัดไทรอยด์ขึ้น เพื่อยกระดับการให้บริการที่ครอบคลุม ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย และให้การรักษาโดยทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ มีการติดตามผลการตรวจรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีหลังการรักษา
โดยความผิดปกติของไทรอยด์ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ชนิด ดังนี้คือ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) หรือไทรอยด์เป็นพิษ, ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism) หรือที่เรียกกันว่า “ไฮโปไทรอยด์” และ โรคเนื้องอกของต่อมไทรอยด์ ซี่งผลการตรวจเลือดพบว่าปกติ แต่มีก้อนเนื้องอกซ่อนอยู่ในต่อมไทรอยด์ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ตรวจวินิจฉัยความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
ศ.คลินิก นพ.สุชาติ จันทวิบูลย์ ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดไทรอยด์ และผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้องทางรักแร้ กล่าวว่า “การผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้องทางรักแร้ในประเทศไทย เกิดขึ้นประมาณ 21 ปีแล้ว โดย ศ.คลินิก นพ.สุชาติ จันทวิบูลย์ เองเป็นแพทย์ผู้ผ่าตัดรักษาด้วยเทคนิคนี้เป็นรายแรก ก่อนที่เทคนิคนี้จะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วประเทศและต่างประเทศ โดยเป็นการซ่อนแผลผ่าตัดไว้บริเวณรักแร้ และมีการใช้กรรไกรที่ใช้คลื่นเสียงที่สามารถห้ามเลือดไปในตัวได้ ทำให้การผ่าตัดเป็นได้อย่างราบรื่น คนไข้เสียเลือดน้อย การบาดเจ็บที่เนื้อเยื่อน้อย ทำให้เจ็บแผลน้อยมากและผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว”
นพ.ธัญวัจน์ ศาสนเกียรติกุล ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดไทรอยด์ และการผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้องทางช่องปาก กล่าวเสริมว่า อีกหนึ่งวิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้องเพื่อรักษาโรคไทรอยด์ คือการผ่าตัดแบบส่องกล้องทางช่องปาก ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาทำให้ไม่มีรอยแผลเป็นที่ผิวหนังบริเวณลำคอ ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว ไปทำงานได้เร็ว เจ็บน้อยเพราะแผลเล็ก และด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดแบบส่องกล้องที่มีความแม่นยำ ทำให้สามารถมองเห็นเส้นประสาทที่ควบคุมการออกเสียงของผู้ป่วยได้ชัดเจน ลดโอกาสการเกิดภาวะเสียงแหบหลังจากการผ่าตัด รวมถึงการหาต่อมพาราไทรอยด์ และผ่าตัดเก็บรักษาไว้ ลดโอกาสการเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำรุนแรงหลังการผ่าตัด
“การสังเกตความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ ที่เราไม่อาจมองข้าม ดังนั้นจึงต้องหมั่นสังเกตและตรวจเช็คอาการป่วยที่ตัวเองเป็น หากพบว่ามีอาการที่สุ่มเสี่ยงจะเป็นโรคไทรอยด์ชนิดใดชนิดหนี่งตามที่กล่าวไปข้างต้น เช่น มีก้อนเนื้องอกที่คอ มีภาวะเหนื่อยง่าย ใจสั่น คอโต ตาโปน ไม่มีแรง ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีต่อไป”
“ปัจจุบันมีผู้ป่วยเป็นโรคไทรอยด์โดยที่ไม่รู้ตัวอยู่ในตัวเลขที่ค่อนข้างสูง เรามักจะพบว่า คนไข้เพิ่งทราบว่าเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือเนื้องอกในต่อมไทรอยด์ จากการตรวจสุขภาพประจำปีด้วยการเจาะเลือด และการทำอัลตราซาวด์คอ จึงเป็นเหตุให้ทาง รพ.จัดตั้งศูนย์ไทรอยด์และผ่าตัดไทรอยด์ ขึ้นมาเพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยโรคไทรอยด์ทุกชนิด โดยทางศูนย์มีความพร้อมทั้งทางด้านทีมแพทย์สหสาขามากประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญโดยตรงมุ่งเน้นการรักษา รวมทั้งการดูแลแบบเฉพาะทางพร้อมด้วยเทคโนโลยีการรักษาและเครื่องมือที่ทันสมัย และคำนึงถึงความปลอดภัยรวมถึงประสิทธิภาพต่อผู้ป่วยเป็นสำคัญ ซึ่งในอนาคตเรายังได้วางแผนพร้อมดึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยยิ่งๆ ขึ้นมาใช้ เพื่อพัฒนาต่อยอดศูนย์สู่วิทยาการรักษาให้สมกับมาตรฐาน Digital Hospital และเพื่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นต่อไป” กล่าวทิ้งท้าย