กสทช.เปิดเฮียริ่งประมูล “ดาวเทียม” – THCOM ค้านเหตุราคาแพงเกิน
กสทช. เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างฯ ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด หลังปรับราคาตั้งต้นลดลง หากมีผู้เข้าร่วมประมูลมากกว่าหนึ่งราย เพื่อจูงใจเอกชนเข้าร่วม ด้าน THCOM ค้านเหตุราคาเริ่มต้นยังแพงไป
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (แพ็กเกจ) (ฉบับแก้ไขปรับปรุง) หลังจาก บอร์ด กสทช.ชุดเก่า มีมติยกเลิกประมูลเนื่องจากมีผู้เข้าร่วมรายเดียว
โดยร่างฯ หลักเกณฑ์ใหม่นั้น แบ่งชุดแพ็กเกจจาก 4 ชุด เป็น 5 ชุด ซึ่งราคาประมูลเริ่มต้นทั้ง 5 ชุด รวมประมาณ 1,841 ล้านบาท แบ่งเป็น ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5 อี (องศาตะวันออก) และ วงโคจร 51 อี ราคาเดิม 676 ล้านบาท หลักเกณฑ์ใหม่ ถ้ามีผู้เข้าประมูลรายเดียวราคา 522 ล้านบาท ผู้ประมูลมากกว่าหนึ่งราย 374 ล้านบาท
ชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5 อี ราคาเดิม 366 ล้านบาท ราคาใหม่ ผู้เข้าประมูลรายเดียว 503 ล้านบาท ผู้เข้าประมูลมากกว่าหนึ่งราย 360 ล้านบาท
ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5 อี และ วงโคจร 120 อี ราคาเดิม 392 ล้านบาท หลักเกณฑ์ใหม่ถ้ามีผู้เข้าประมูล 1 ราย 547 ล้านบาท และผู้เข้าประมูลมากกว่าหนึ่งราย 397 ล้านบาท
ชุดที่ 4 ประกอบด้วย วงโคจร 126 อี ราคาเดิม 364 ล้านบาท ราคาใหม่ 8.6 ล้านบาท และชุด 5 วงโคจร 142 อี ราคาใหม่ 259 ล้านบาท ถ้ามีผู้เข้าประมูลมากกว่าหนึ่งราย 189 ล้านบาท
สำหรับกรอบระยะเวลาประมูลนั้น พล.อ.ท.ธนพันธุ์ ระบุว่า จะนำความคิดเห็นครั้งนี้ไปปรับปรุงในเดือนกันยายน 2565 จากนั้นต้นเดือนตุลาคม 2565 จะขออนุมัติเห็นชอบจากบอร์ด กสทช. แล้วนำประกาศในราชกิจจานุเบกษาในเดือนพฤศจิกายน 2565 และคาดว่าจะจัดประมูลได้ในเดือนธันวาคม 2565 โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมูล 2-3 ราย อย่างไรก็ตามในการรับฟังความคิดเห็นทางเอกชน ยังมีความกังวลเรื่องราคาและการแบ่งชุดประมูลไม่ควรประมูลพร้อมกัน
นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ได้แจ้งเกี่ยวกับ มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ที่มอบหมายให้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที เข้าร่วมประมูลดาวเทียม หรือร่วมลงทุนกับเอกชนที่ชนะการประมูล ซึ่งได้แจ้งให้ส่งหนังสือแจ้งเป็นทางการมายัง กสทช.ได้ โดยจะนำข้อคิดเห็นทั้งหมดในครั้งนี้ไปพิจารณาต่อไป
ด้านนายเอกชัย ภัคดุรงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์และสื่อสารองค์กร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM ไม่เห็นด้วยกับร่างฯ ของ กสทช. เนื่องจากเมื่อพิจารณาแล้วไม่เหมาะสมกับสถานการณ์การแข่งขันในปัจจุบัน โดยเฉพาะราคาประมูล และค่าธรรมเนียมที่กำหนด ซึ่งเมื่อเทียบกับหลายๆประเทศในภูมิภาคนี้ ประเทศไทยถือว่าแพงกว่ามาก ซึ่งจะทำให้เอกชนมีต้นทุนแพงเป็นภาระกับเอกชนที่เข้าประมูลและแข่งขันกับต่างประเทศได้ยากไม่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมดาวเทียมและอุตสาหกรรมโลก.