สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 2 ก.ย. 2565

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 2 ก.ย. 2565


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลดลงในวันศุกร์ (2 ก.ย.) โดยถูกกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับวิกฤตพลังงานในยุโรป หลังจากที่ปรับตัวขึ้นในช่วงแรกขานรับการเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานอาจเริ่มชะลอตัวลง ซึ่งลดแรงกดดันที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรง

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,318.44 จุด ลดลง 337.98 จุด หรือ -1.07%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,924.26 จุด ลดลง 42.59 จุด หรือ -1.07% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,630.86 จุด ลดลง 154.26 จุด หรือ -1.31%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดพุ่งขึ้น 2% ในวันศุกร์ (2 ก.ย.) โดยฟื้นตัวขึ้นเป็นวันแรกในรอบ 6 วันทำการ หลังการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานที่ชะลอตัวในสหรัฐทำให้นักลงทุนคลายความวิตกที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงปรับตัวลงในรอบสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกันท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับราคาพลังงานที่พุ่งขึ้น

ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 415.97 จุด เพิ่มขึ้น 8.31 จุด หรือ +2.04% แต่ก็ยังคงลดลง 2% ในรอบสัปดาห์นี้

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,167.51 จุด เพิ่มขึ้น 133.20 จุด, +2.21%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,050.27 จุด เพิ่มขึ้น 420.04 จุด หรือ +3.33% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,281.19 จุด เพิ่มขึ้น 132.69 จุด หรือ +1.86%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดพุ่งขึ้นในวันศุกร์ (2 ก.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ถึงแรงกดดันด้านค่าแรงที่ลดลงในสหรัฐ ซึ่งได้ช่วยหนุนบรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรป แต่ตลาดยังคงปรับตัวลงในรอบสัปดาห์นี้ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย และทิศทางของนโยบายภายใต้การบริหารของนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ที่จะมีการประกาศชื่อในวันจันทร์ (5 ก.ย.)

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,281.19 จุด เพิ่มขึ้น 132.69 จุด หรือ +1.86% แต่ลดลงเกือบ 2% ในรอบสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการลดลงรายสัปดาห์รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นในวันศุกร์ (2 ก.ย.) ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัสในวันจันทร์ที่ 5 ก.ย.นี้

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค.เพิ่มขึ้น 26 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 86.87 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ยังคงร่วงลงราว 6.6% ในรอบสัปดาห์นี้

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย.เพิ่มขึ้น 66 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 93.02 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ยังคงร่วงลง 6.1% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นในวันศุกร์ (2 ก.ย.) โดยดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงหนุนแรงซื้อสัญญาทองคำ เนื่องจากทำให้สัญญาทองคำมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ๆ นอกจากนี้ การร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงได้ช่วยหนุนสัญญาทองคำด้วย อย่างไรก็ตาม สัญญาทองคำยังคงปรับตัวลงในรอบสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 13.3 ดอลลาร์ หรือ 0.78% ปิดที่ 1,722.6 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่สัญญาทองคำยังคงร่วงลงเกือบ 1.6% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 21.5 เซนต์ หรือ 1.22% ปิดที่ 17.881 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 12.8 ดอลลาร์ หรือ 1.59% ปิดที่ 818.3 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. พุ่งขึ้น 29.80 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดที่ 2,026.10 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (2 ก.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ชะลอตัวลงในเดือนส.ค. ซึ่งลดแรงกดดันที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.15% แตะที่ระดับ 108.5320

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 140.12 เยน จากระดับ 140.20 เยน, อ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9803 ฟรังก์ จากระดับ 0.9822 ฟรังก์ และดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.3124  ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3165 ดอลลาร์แคนาดา

ส่วนยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.9968 ดอลลาร์ จากระดับ 0.9947 ดอลลาร์, เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.1513 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1539 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าสู่ระดับ 0.6816 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6784 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button