ตามคาด! เงินเฟ้อไทย ส.ค. พุ่ง 7.86%

เงินเฟ้อไทย เดือนส.ค. ขยายตัว 7.86% จากตลาดคาด 7.7-7.9% ส่วนเฉลี่ย 8 เดือนปีนี้ ขยายตัว 6.14%


นายรณรงค์ พูนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือน ส.ค.65 อยู่ที่ 107.46 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนส.ค.เพิ่มขึ้น 7.86% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.65 จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 0.05% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) อยู่ที่ 6.14%

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนส.ค.65 อยู่ที่ 103.59 ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนส.ค.เพิ่มขึ้น 3.15% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก.ค.65 จะเพิ่มขึ้น 0.09% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 8 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 2.16%

โดยปัจจัยสำคัญต่ออัตราเงินเฟ้อในเดือนส.ค.นี้ ยังคงเป็นราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นถึง 30.50% จากงวดเดียวกันของปีก่อน แม้ราคาน้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอล์จะปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า แต่ราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนการขนส่งและต้นทุนการผลิตที่สำคัญยังคงสูงขึ้น รวมทั้งค่าบริการ อาทิ ค่าโดยสารสาธารณะ และค่าการศึกษาที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้สินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 6.83% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

สำหรับสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 9.35% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะผักสด (พริกสด ต้นหอม ผักคะน้า) ราคาปรับสูงขึ้นเนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในหลายจังหวัด รวมทั้งเนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ เครื่องประกอบอาหาร และอาหารสำเร็จรูป ราคาปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิต ราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่ง

นอกจากนี้อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น และฐานดัชนีราคาฯ ที่ใช้คำนวณอัตราเงินเฟ้อในเดือนเดียวกันของปีก่อน ค่อนข้างต่ำ ถือเป็นการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในทางเทคนิคสำหรับเงินเฟ้อในเดือนนี้

ทั้งนี้หากประเมินสถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นการทยอยปรับราคาอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่ขึ้นราคาสินค้าในทุกหมวดพร้อมกันในทันที เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภค และสร้างความสมดุลระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยคาดว่าราคาสินค้าและบริการจากนี้ไปจะเริ่มทรงตัว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายลดภาระค่าครองชีพของกระทรวงพาณิชย์ที่ร่วมกับภาคเอกชน ในการบริหารจัดการราคาสินค้าและบริการภายใต้นโยบาย “วิน-วิน โมเดล”

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาเงินเฟ้อของไทยเทียบกับต่างประเทศ จะพบว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในอันดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยเงินเฟ้อของไทยสูงเป็นอันดับท้ายๆ ที่ 85 จาก 127 ประเทศที่มีการประกาศตัวเลข

อีกทั้งยังคาดว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดของปีนี้ไปแล้ว โดยทั้งปี ยังคงคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 6% หรือในกรอบที่ 5.5-6.5%

สำหรับอัตราเงินเฟ้อในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้ มีโอกาสจะลดลงไปใกล้เคียงกับระดับ 5% ได้ ซึ่งถือว่าลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ดี คงต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านราคาน้ำมัน และราคาพลังงานในตลาดโลกเป็นสำคัญ รวมถึงสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาค ตลอดจนปัจจัยเรื่องค่าเงินด้วยเช่นกัน

โดยแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือน ก.ย.65 นั้น หากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศยังเป็นสถานการณ์เช่นในปัจจุบัน ก็คาดว่าเงินเฟ้อเดือนก.ย.นี้ จะปรับตัวลดลงจากเดือนส.ค.

“คาดว่าเงินเฟ้อของไทยน่าจะถึงจุดสูงสุดแล้ว เหตุผลเนื่องจากในช่วงระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน หรืออย่างน้อยอัตราเงินเฟ้อจะทรงตัว นอกจากนี้ เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจการค้าอื่น ทั้งดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง” นายรณรงค์ กล่าว

นายรณรงค์ กล่าวด้วยว่า สนค. ได้รับข้อมูลจากผู้ประกอบการว่า การขึ้นราคาสินค้าและบริการของบริษัทต่างชาติที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย จะอ้างอิงตามอัตราเงินเฟ้อของประเทศต้นทาง เช่น อัตราค่าบริการเพิ่มขึ้น 8% จะอิงจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาเดือนมี.ค.65 ซึ่งสูงขึ้น 8.5% เป็นต้น โดยบางบริษัทปรับราคาเพิ่มขึ้นแล้วตามบริษัทแม่ และบางบริษัทจะปรับราคาในปลายปีนี้หรือต้นปี 66 เช่น สินค้าในภาคบริการ ได้แก่ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ, ระบบ Software, ข้อมูลงานวิจัยต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นนโยบายการปรับราคาของบริษัทแม่ที่จะใช้กับบริษัทในเครือทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อของไทย

Back to top button