“รื่นวดี” ย้ำชัด ก.ล.ต. ไม่เลือกปฏิบัติ! “บังคับโทษ-สั่งปรับ” ตามกฎหมาย
“รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการ ก.ล.ต. ยันไม่ได้เลือกปฏิบัติกล่าวโทษใคร ทำตามข้อกฎหมายฐานความผิดของกรณีนั้นๆ ขณะที่ก.ล.ต.ได้ออกกฎเกณฑ์กำกับการโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเริ่มบังคับใช้ 1 ก.ย. 65 เป็นต้นไป
นางรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่า ก.ล.ต. ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องตามกฎหมายระเบียบข้อบังคับ เนื่องจากหากไม่ทำจะมีความผิดฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ แต่หากทำเกินกว่ากฎหมายก็ผิดฐานกระทำเกินขอบเขตหน้าที่อีกเช่นกัน และยืนยันว่าไม่ได้เลือกปฏิบัติกับใครเป็นพิเศษ ซึ่งบทลงโทษในแต่ละกรณีที่แตกต่างกันนั้นก็เป็นไปตามข้อกฎหมายฐานความผิดของกรณีนั้นๆ
โดยกรณีบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) ก.ล.ต. ได้ปรียบเทียบปรับ Zipmex จำนวน 2 กรณี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,920,000 บาท ประกอบด้วย กรณีที่ 1 ปรับเป็นเงิน 540,000 บาท ฐานไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานในฐานะผู้มีวิชาชีพพึงกระทำและเป็นการไม่ให้บริการอย่างมีคุณภาพ เนื่องจาก Zipmex ระงับการให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมดหรือบางส่วนระหว่างวันที่ 20 -28 ก.ค. 65
รวมทั้งกรณีที่ 2 ปรับเป็นเงิน 1,380,000 บาท ฐานไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานในฐานะผู้มีวิชาชีพพึงกระทำและเป็นการไม่ให้บริการอย่างมีคุณภาพ เนื่องจากระงับการให้บริการฝากถอนทรัพย์สินของลูกค้าใน Trade wallet และ Z-wallet ระหว่างวันที่ 20 ก.ค.65-25 ส.ค. 65
ส่วนกรณีการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดรายนายสำเร็จ วจนะเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด (BBT) กรณีซื้อโทเคนดิจิทัล Bitkub Coin (เหรียญ KUB) ฐานเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในตามมาตรา 42 (1) ประกอบมาตรา 43 (1) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 70 และมาตรา 72 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 นั้นได้กำหนดโทษค่าปรับเป็นเงินทั้งสิ้น 8,530,383 บาท
รวมถึง ก.ล.ต.ได้มีหนังสือส่งไปยังนายสำเร็จ วจนะเสถียร ให้เข้ามาชี้แจงรายละเอียดที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 10 วัน หลังจากนั้นจะให้เวลา 7 วันในการตัดสินใจชำระเงินค่าปรับ แต่หากไม่ยินยอม ก.ล.ต.จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งจะไม่ต่ำกว่าอัตราที่ค.ม.พ.กำหนด
ทั้งนี้จากสถิติการใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งของก.ล.ต.ในช่วงปี 60-61 มีราว 20% ที่ผู้กระทำผิดไม่ยินยอมชำระเงินค่าปรับ แต่ตั้งแต่ปี 2562 มาจนถึงปัจจุบัน ตัวเลขนี้ลดเหลือ 10% โดยมีเพียง 3-4 คดีที่เข้าสู่การฟ้องคดีต่อศาลเพื่อรับโทษในอัตราสูงสุดตามกฎหมาย ซึ่งก.ล.ต.ชนะทุกกรณีที่ฟ้องตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ
ส่วนความคืบหน้ากรณีที่บอร์ดก.ล.ต.มีคำสั่งให้บิทคับดำเนินการแก้ไขการคัดเลือกและอนุมัติเหรียญ KUB เข้ามาให้บริการในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลภายในวันที่ 4 ส.ค.2565 และบิทคับได้ขอขยายเวลานั้น ล่าสุดทางบิทคับได้ส่งเรื่องการดำเนินการแก้ไขมาให้กับทางก.ล.ต.เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างพิจารณา ก่อนจะนำเข้าบอร์ดก.ล.ต.อีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนั้นก.ล.ต.ได้ออกกฎเกณฑ์กำกับการโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2565 มีสาระสำคัญคือ
- ต้องโฆษณาไม่เกินความจริง
- มีการแสดงข้อมูลด้านบวกหรือโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทน และต้องมีการแสดงข้อมูลด้านลบหรือความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลควบคู่กัน (balanced view)
- กำหนดให้โฆษณาคริปโตทำได้ในช่องทางทางการของผู้ประกอบธุรกิจ (official channel) เท่านั้น (กรณีโปรโมตธุรกิจเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่เจาะจงยี่ห้อเหรียญยังสามารถโฆษณาผ่านสื่อทั่วไปได้ทั้งหมด)
อย่างไรตามผู้ประกอบการรายใดมีการเผยแพร่โฆษณาอยู่ก่อนแล้ว เช่น โฆษณาบนบิลบอร์ด, สื่อกลางแจ้ง เป็นต้น ต้องถอนออกภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ โดยได้ส่งหนังสือและสั่งให้แต่ละบริษัทดำเนินการตามกำหนดและทำตรารับรองส่งกลับมาให้ก.ล.ต.รับทราบด้วย