“กอนช.” เล็งตั้งศูนย์จัดการน้ำส่วนหน้า “อีสาน-กลาง” นำร่อง “อุบลราชธานี” รับมือฝนตกหนัก
“กอนช.” เตรียมจัดตั้งศูนย์จัดการน้ำส่วนหน้า “อีสานภาคกลาง” นำร่อง “อุบลราชธานี” พร้อมรับมือฝนตกหนัก-ท่วมฉับพลัน ระหว่าง 6-12 ก.ย.65
นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวภายหลังประชุมคณะทำงานด้านประเมินสถานการณ์ฯ ว่า ในช่วงวันที่ 5-10 ก.ย.65 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เนื่องจากร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคกลาง, และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น
ทั้งนี้ กอนช.จึงได้มีการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อประกอบการจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ในพื้นที่ต่างๆ พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงระหว่าง 6-12 ก.ย.65 จะมีฝนตกหนักในบริเวณลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ส่งผลให้มีโอกาสเกิดอุทกภัย และบริเวณท้ายน้ำที่เป็นจุดรวมของลุ่มน้ำชีและมูล ที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญมีโอกาสเสี่ยงที่จะระบายน้ำไม่ทันจนอาจเกิดผลกระทบต่อประชาชน
รวมถึงภาคกลาง ในช่วงวันที่ 6-9 ก.ย.65 จะมีฝนตกหนักในบริเวณ จ.สุพรรณบุรี, ชัยนาท, สิงห์บุรี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา, และ จ.สระบุรี ทำให้มีโอกาสจะเกิดอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำดังกล่าว เนื่องจากหลายพื้นที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ประกอบกับ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ที่มีโบราณสถานซึ่งมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก
ดังนั้น กอนช.จึงเห็นชอบให้มีการตั้งคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง เพื่อเตรียมความพร้อม ติดตาม ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและอำนวยการหน่วยงานในพื้นที่บริหารจัดการมวลน้ำในช่วงฤดูฝนให้เกิดความเป็นเอกภาพจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และจะมีการเสนอ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. เพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนเร่งจัดตั้งศูนย์แห่งแรกที่ จ.อุบลราชธานี ในโอกาสต่อไป
โดยปัจจุบันแหล่งน้ำทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวม 52,165 ล้านลูกบาสก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 64% ของความจุทั้งหมด มากกว่าปีที่แล้ว 9,387 ล้าน ลบ.ม. โดยมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำมากจำนวน 7 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 3 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 แห่ง ภาคตะวันออก 3 แห่ง และมีแหล่งน้ำขนาดกลางที่ต้องเฝ้าระวังจำนวน 355 แห่ง ทั้งนี้ สทนช. ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ได้คาดการณ์ฝน One Map ล่วงหน้า พบว่า ปีนี้ปริมาณฝนมีแนวโน้มมากกว่าค่าปกติ ซึ่ง กอนช. ได้เร่งบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบริหารจัดการน้ำในอ่างฯ รวมถึงการระบายน้ำเพื่อเตรียมพื้นที่รองรับฝนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
“โดยที่ผ่านมา กอนช.ได้ติดตามผลการดำเนินการตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในมาตรการที่ 6 ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งกำจัดผักตบชวาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำช่วงน้ำหลากตั้งแต่ช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูฝน พร้อมจัดกำลังพลสนับสนุนการปฏิบัติการเพื่อให้สามารถดำเนินการครอบคลุมทุกพื้นที่ได้โดยเร็วที่สุด” ชยันต์ กล่าว
โดย สทนช.ได้รายงานความก้าวหน้าปัจจุบัน พบว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า กรุงเทพมหานคร GISTDA การประปาส่วนภูมิภาค องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กรมประมง และกรมทางหลวง มีการดำเนินการไปแล้วรวมประมาณเกือบ 7 ล้านตัน โดยมีการเร่งสำรวจและดำเนินการในทุกพื้นที่ อาทิ แม่น้ำสายหลักและสายรอง บึงขนาดใหญ่ต่างๆ ฯลฯ โดย กอนช. จะมีการลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าและเร่งรัดการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป