สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 7 ก.ย. 2565
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 7 ก.ย. 2565
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 400 จุดในวันพุธ (7 ก.ย.) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวลง ซึ่งช่วยหนุนแรงซื้อหุ้นกลุ่มเติบโต (Growth Stock) รวมถึงหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อหุ้น Defensive ซึ่งเป็นหุ้นที่ปลอดภัยและสามารถต้านทานวัฎจักรทางเศรษฐกิจได้ดี
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,581.28 จุด เพิ่มขึ้น 435.98 จุด หรือ +1.40%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,979.87 จุด เพิ่มขึ้น 71.68 จุด หรือ +1.83% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,791.90 จุด เพิ่มขึ้น 246.99 จุด หรือ +2.14%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบในวันพุธ (7 ก.ย.) นำโดยหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลง หลังจากการเปิดเผยข้อมูลการค้าที่อ่อนแอของจีนได้เพิ่มความวิตกเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 412.01 จุด ลดลง 2.37 จุด หรือ -0.57%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,105.92 จุด เพิ่มขึ้น 1.31 จุด หรือ +0.021%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,915.97 จุด เพิ่มขึ้น 44.53 จุด หรือ +0.35% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,237.83 จุด ลดลง 62.61 จุดหรือ -0.86%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงในวันพุธ (7 ก.ย.) เนื่องจากราคาน้ำมันและโลหะที่ลดลงกดดันหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ขณะที่ความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศต่าง ๆ ถ่วงบรรยากาศการซื้อขาย
ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,237.83 จุด ลดลง 62.61 จุดหรือ -0.86%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันพุธ (7 ก.ย.) เนื่องจากข้อมูลการค้าที่อ่อนแอของจีนทำให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการที่ธนาคารกลางทั่วโลกเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. ร่วงลง 4.94 ดอลลาร์ หรือ 5.7% ปิดที่ 81.94 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. ร่วงลง 4.83 ดอลลาร์ หรือ 5.2% ปิดที่ 88 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพุธ (7 ก.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์และการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกถดถอยยังทำให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 14.9 ดอลลาร์ หรือ 0.87% ปิดที่ 1,727.8 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค.
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 35.2 เซนต์ หรือ 1.97% ปิดที่ 18.26 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 13.3 ดอลลาร์ หรือ 1.59% ปิดที่ 847.2 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. พุ่งขึ้น 49.60 ดอลลาร์ หรือ 2.5% ปิดที่ 2,022.80 ดอลลาร์/ออนซ์
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (7 ก.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันนี้
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.34% แตะที่ระดับ 109.8400
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 0.9985 ดอลลาร์ จากระดับ 0.9914 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.1502 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1527 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6753 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6735 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 144.13 เยน จากระดับ 142.84 เยน แต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9782 ฟรังก์ จากระดับ 0.9843 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3140 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3149 ดอลลาร์แคนาดา