กอนช. เตือน “เหนือ-อีสาน-ตอ.” เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก-ล้นตลิ่ง
กอนช. เตือน “เหนือ-อีสาน-ตะวันออก” เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก-น้ำท่วมขัง-ล้นตลิ่ง หลังฝนตกหนักต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามสภาพอากาศ พบว่าช่วงวันที่ 11 – 13 กันยายน 2565 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาว และเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
ทั้งนี้ กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 11 – 13 กันยายน 2565 ดังนี้
1.เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง ดังนี้
ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย (อำเภอเวียงป่าเป้า แม่ฟ้าหลวง แม่สาย แม่สรวย และแม่จัน), จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอเชียงดาว ฝาง ไชยปราการ จอมทอง แม่แจ่ม ฮอด อมก๋อย และดอยสะเก็ด), จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ปาย ปางมะผ้า ขุนยวม แม่สะเรียง สบเมย และแม่ลาน้อย), จังหวัดลำปาง (อำเภอเกาะคา เมืองลำปาง และแจ้ห่ม), จังหวัดลำพูน (อำเภอลี้ แม่ทา และป่าซาง), จังหวัดพะเยา (อำเภอเชียงคำ เมืองพะเยา ปง จุน ภูซาง และดอกคำใต้), จังหวัดน่าน (อำเภอบ่อเกลือ แม่จริม และสันติสุข), จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง พบพระ อุ้มผาง และแม่สอด), จังหวัดแพร่ (อำเภอวังชิ้น สอง ลอง และร้องกวาง), จังหวัดอุตรดิตถ์ (อำเภอน้ำปาด ฟากท่า บ้านโคก และท่าปลา), จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอนครไทย และชาติตระการ), จังหวัดนครสวรรค์ (อำเภอไพศาลี ตากฟ้า ท่าตะโก ตาคลี และหนองบัว) และ จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอหล่มสัก เมืองเพชรบูรณ์ และวิเชียรบุรี)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย (อำเภอวังสะพุง), จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอภูเขียวเมืองชัยภูมิ เกษตรสมบูรณ์ จัตุรัส บำเหน็จณรงค์ เทพสถิต และบ้านเขว้า) และ จังหวัดนครราชสีมา (อำเภอโนนไทย เมืองนครราชสีมา และโนนสูง)
ภาคตะวันออก จังหวัดสระแก้ว (อำเภอโคกสูง เมืองสระแก้ว และอรัญประเทศ), จังหวัดระยอง (อำเภอแกลง), จังหวัดจันทบุรี (อำเภอท่าใหม่ และมะขาม) และจังหวัดตราด (อำเภอเขาสมิง และบ่อไร่)
2.เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำสาย แม่น้ำกก แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำนครนายก แม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำระยอง แม่น้ำจันทบุรี และแม่น้ำตราด
3.เฝ้าระวังแหล่งน้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) 10 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่, อ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมาและแม่มอก จังหวัดลำปาง, บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์, อ่างเก็บน้ำทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี, อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น, อ่างเก็บน้ำลำตะคองและมูลบน จังหวัดนครราชสีมา, อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง รวมทั้งอ่างฯ ขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ ทั่วประเทศ
สำหรับในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1.ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ
2.ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณพื้นที่เสี่ยง
3.เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
4.ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์