“โตโยต้า” แจงนำเข้าชิ้นส่วน “พรีอุส” ถูกต้อง “ศาลฎีกา” สั่งจ่ายภาษีหมื่นล้าน

“โตโยต้า” ยืนยันดำเนินการตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าชิ้นส่วน “พรีอุส” ถูกต้องมาโดยตลอด หลัง “ศาลฎีกา” สั่งจ่ายภาษีหมื่นล้าน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร พิพากษายืนในคดีที่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ยื่นฟ้อง กรมศุลกากร และกรมสรรพากร เป็นจำเลยร่วมกันรวม 10 คดีกรณีประเมินอากรนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์โตโยต้า พรีอุส คิดเป็นทุนทรัพย์รวม 1 หมื่นล้านบาทเศษ

โดยคดีนี้ทางโตโยต้าบรรยายฟ้องว่า ระหว่างปี 53-55 ได้นำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อนำมาผลิตรถยนต์โตโยต้า รุ่นพรีอุส โดยอาศัยสิทธิตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 และมาตรา 14 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 และตามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่นสำหรับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (JTEPA) โจทก์จึงขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์

ทั้งนี้ จำเลยทั้งสองให้การว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร พิจารณาแล้วเห็นว่า ชิ้นส่วนรถยนต์ที่โจทก์นำเข้าเมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้ว มีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญของรถยนต์โตโยต้า รุ่นพรีอุส และสามารถนำไปประกอบเป็นรถยนต์โตโยต้า รุ่นพรีอุส ได้ทันที จึงต้องจำแนกเข้าประเภทพิกัดของชิ้นส่วนที่สมบูรณ์หรือสำเร็จแล้วที่นำเข้ามา โดยถอดแยกออกจากกันหรือยังไม่ได้ประกอบเข้าด้วยกันในฐานะที่เป็นชิ้นส่วนครบชุดสมบูรณ์ ประเภทพิกัด 8703.23.41 หรือ 8703.23.51 (ตามช่วงเวลาที่นำเข้า) ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร ข้อ 1 ข้อ 2 (ก) และ ข้อ 6 ในภาค 1 ท้าย พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 จึงไม่ได้รับยกเว้นอากรและลดอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลังที่ออกมาเพื่อให้เป็นไปตามความตกลง JTEPA และไม่ได้รับสิทธิยกเว้นอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 (ฉบับที่ 18) ลงวันที่ 13 ต.ค.53

อีกทั้งไม่ได้รับสิทธิลดอัตราอากรในอัตราอากรขาเข้าร้อยละ 30 ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ให้คิดอัตราอากรขาเข้าร้อยละ 80 ชอบแล้ว ส่วนประเด็นอื่นศาลไม่รับวินิจฉัย พิพากษายืน

ด้านบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลฎีกา ระบุว่า ขอแสดงความเคารพต่อคำพิพากษาของศาลฎีกาในวันนี้ ทั้งนี้ คดีดังกล่าวนี้มีประเด็นเกี่ยวกับการตีความข้อกฎหมายซึ่งยังไม่เคยมีการวินิจฉัยมาก่อน และเป็นประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์และข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น กล่าวคือ บริษัทฯ ได้ใช้สิทธิประโยชน์ตามอนุสัญญาระหว่าง 2 ประเทศ ที่เรียกว่าความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น (JTEPA) เพื่อลดอัตราอากรขาเข้าในการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์พรีอุส ซึ่งในปี 2553 หน่วยงานราชการของไทยที่เกี่ยวข้องได้อนุมัติการใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวแล้ว บริษัทฯ จึงมีความเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินการตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าดังกล่าวอย่างถูกต้องมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2555 กรมศุลกากรได้ตีความกฎการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์พรีอุสในแนวทางซึ่งแตกต่างไปจากเดิม ซึ่งทำให้บริษัทฯ มีภาระภาษีและอากรขาเข้าเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก คำพิพากษาของศาลฎีกาในวันนี้ได้ตีความในแนวทางเดียวกันกับการตีความของกรมศุลกากร ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ได้รับสำเนาคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว บริษัทฯ จะศึกษารายละเอียดของคำพิพากษา และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ต่อไป

บริษัทฯ ขอยืนยันว่า บริษัทฯ ยึดมั่นที่จะประกอบธุรกิจของบริษัทฯ ให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องทุกประการ โดยบริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยและพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อให้ลูกค้าในประเทศไทยได้รับความพึงพอใจสูงสุด และเพื่อส่งเสริมพันธกิจขององค์กรในการขับเคลื่อนความสุขสู่สังคมไทย

Back to top button