ลุ้น! ศาลฎีกาชี้ขาดปม “ทุจริตโรงพัก” 396 แห่ง-“สุเทพ” ลั่นหากผิดพร้อมติดคุก
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เตรียมตัดสินคดีทุจริตการจัดจ้างโครงการก่อสร้างโรงพัก (ทดแทน) 396 แห่ง หลัง ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องหลังใช้เวลาสอบสวนนาน 7 ปีเต็ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำหนดนัดฟังคำพิพากษา คดีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกรวม 6 คน ได้แก่ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ, พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และนายวิศณุ วิเศษสิงห์ เป็นจำเลยที่ 1-6 ที่ถูกกล่าวหาร่วมกันกระทำผิดต่อหน้าที่ราชการในการจัดจ้างโครงการก่อสร้างโรงพัก (ทดแทน) 396 แห่ง
โดยนายสุเทพ เปิดเผยก่อนเข้าฟังคำพิพากษาว่า วันนี้ (20 กันยายน 2565) เป็นวันสำคัญมากสำหรับชีวิตของตน เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในกรณีของการก่อสร้างสถานีตำรวจ 396 แห่ง ซึ่งการกล่าวหาตนในคดีนี้เริ่มมาตั้งแต่ตอนที่มีการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ที่คู่แข่งทางการเมืองยกขึ้นมาโจมตี เพราะว่าในขณะนั้นสถานีตำรวจที่ประมูลไปแล้วสร้างไม่เสร็จ เลยเอาตนมาเป็นแพะ ส่วนคนที่เป็นตัวตั้งตัวตีอีกคนหนึ่งก็คือนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ออกมาแถลงข่าวดำเนินคดีว่าตนมีการฮั้วประมูล ซึ่งขณะนี้ก็ถูกจำคุกลงโทษไปแล้ว
หลังจากนั้น ป.ป.ช. ก็ได้รับเรื่องต่อจากนาย ธาริต มาดำเนินการ เฉพาะการสอบสวนของป.ป.ช. ทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 7 ปี พอสอบสวนเสร็จก็ส่งสำนวนไปให้อัยการเพื่อฟ้องคดี แต่อัยการไม่เห็นด้วยกับสำนวน เนื่องจากความเห็นของอัยการคือตนไม่มีความผิด หลังจากมีการใช้เวลามากกว่าหนึ่งปีอัยการสูงสุดก็ได้มีการส่งสำนวนคืนให้ ป.ป.ช. ทำให้ ป.ป.ช.ดำเนินการฟ้องเอง
ทั้งนี้ หากศาลตัดสินในเชิงลบ ถือว่าเป็นการปิดฉากตัวเองทางการเมืองหรือไม่ นายสุเทพ ระบุว่า ปิดอยู่แล้ว ถ้าทำตัวโดยผ่านกระบวนการของศาลยุติธรรมแล้วกลายเป็นผู้ผิดก็ต้องยุติ ส่วนจะนำหลักฐานใหม่ยื่นต่อสู้อุทธรณ์หรือไม่นั้น นายสุเทพ กล่าวว่า คงไม่มีหลักฐานอะไรใหม่มากกว่านี้อีกแล้ว ถึงแม้ว่าอะไรที่เป็นพยานหลักฐานข้อเท็จจริงก็ได้นำเสนอครบถ้วนแล้ว ตนเองถือว่าคดีนี้ควรจะจบได้แล้ว
สำหรับคดีนี้ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน 2552-18 เมษายน 2556 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เปลี่ยนแปลงแนวทางจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง จากราคาภาคแยกสัญญามาเป็นการรวมจัดจ้างก่อสร้างไว้ที่ส่วนกลางสัญญาเดียว จำเลยที่ 5 เป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดยจำเลยที่ 6 ยื่นเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาได้เสนอ ราคาต่ำอย่างผิดปกติ จำเลยที่ 3-4 ในฐานะคณะกรรมการประกวดราคา ไม่ตรวจสอบราคาที่ผิดปกติ ดังกล่าว และได้นำเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคานั้นไปใช้ในการขออนุมัติจ้างและใช้ประกอบ เป็นเอกสารแนบท้ายสัญญา ต่อมาจำเลยที่ 5 ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจ แห่งชาติเสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 , 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษจำเลยที่ 3 , 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 , 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา ต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 10 , 12 กับลงโทษจำเลยที่ 5 , 6 ในฐานะผู้สนับสนุนการกระทำผิด