เกมวัดใจ กสทช.! หลังกฎหมายชี้ชัดมี “อำนาจ” ดีลควบ TRUE-DTAC

นายแพทย์ประวิทย์  ลี่สถาพรวงศา วิเคราะห์ความเห็นกฤษฎีกาฯ ชี้ กสทช.มีอำนาจอนุญาตดีลควบ TRUE-DTAC เพราะเข้าข่ายถือครองธุรกิจเดียวกัน พร้อมย้ำไม่ดำเนินการตามกฎหมายเสี่ยงถูกดำเนินคดีอาญา


นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ประธานอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง เปิดเผยผ่านรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด” ถึงประเด็นการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC หลังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีหนังสือตอบกลับในประเด็นที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งบอร์ด กสทช.กำลังรอความเห็น เพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณาในการควบรวมกิจการดังกล่าวว่า

โดยส่วนตัวเห็นว่า เอกสารบันทึกความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ระบุชัดเจนว่า ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 (ประกาศ กสทช.ปี 61) ยังมีผลบังคับใช้ ซึ่งในประกาศดังกล่าวหากเป็นการควบรวมธุรกิจทั่วไป หรือเป็นการควบรวมในกิจการของผู้ถือใบอนุญาตเดียวกัน แค่รายงานให้ กสทช.ได้รับทราบ และหาก กสทช.เห็นว่ามีผลกระทบสาธารณะ สามารถกำหนดมาตรการเฉพาะตามข้อ 12 ในประกาศดังกล่าว

แต่ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความ ข้อ 9 ของประกาศ กสทช.ปี 61 ว่า หากการควบรวมกิจการ เป็นการถือครองธุรกิจ ซึ่งเป็นการควบรวมกับผู้ถือใบอนุญาตรายอื่น การยื่นรายงานในการควบรวมกิจการต่อ กสทช. ให้ถือเป็นการขออนุญาต ตามข้อ 8 ของประกาศ กสทช. ปี 49 ซึ่งได้กำหนดให้การถือครองธุรกิจโทรคมนาคมประเภทเดียวกัน ต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช.ก่อน ดังนั้น กสทช.ต้องตีความก่อนว่า ดีลการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE-DTAC เป็นการถือครองธุรกิจประเภทเดียวกันหรือไม่ จึงจะสามารถบอกได้ว่า กสทช.มีอำนาจในการอนุญาต หรือไม่อนุญาตในการควบรวมกิจการ

นายแพทย์ประวิทย์ ยังอธิบายว่า การที่จะดูว่า กิจการใดเป็นประเภทเดียวกันหรือไม่ จะต้องพิจารณาตามหลักวิชาการ โดยเกณฑ์การพิจารณา ว่าธุรกิจดังกล่าว เป็นประเภทเดียวกันหรือไม่ เริ่มต้นจะต้องดูจากใบอนุญาตของผู้ประกอบกิจการ ว่าเป็นประเภทเดียวกันหรือไม่ จากนั้นจะต้องกำหนดนิยามของตลาดที่เกี่ยวข้องว่ามีผลกระทบต่อตลาดใดบ้าง ซึ่งจากรายงานของที่ปรึกษาอิสระ (บริษัท หลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด) ได้นำเสนอข้อมูลต่อ กสทช.ว่า เป็นตลาดโทรศัพท์มือถือ ประเภทเสียงและอินเตอร์เน็ต จึงมีแนวโน้มว่า การประกอบกิจการของทั้ง 2 บริษัทที่จะควบรวมกันเป็นการถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน

ส่วนกรณีที่ดีลการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE-DTAC จะไม่ใช่การควบรวมระหว่างบริษัทแม่ทั้ง 2 บริษัท แต่เป็นการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นเข้าซื้อกิจการทั้ง 2 บริษัทแทนจะมีผลต่อการพิจารณาหรือไม่ นายแพทย์ประวิทย์ระบุว่า หากพิจารณาจากประกาศ กสทช. ปี 49 กฎหมายได้บัญญัติไว้ว่า ไม่ว่าการควบรวมกิจการจะเป็นทางตรง หรือทางอ้อม ดังนั้นต่อให้ไม่ได้ซื้อกิจการโดยตรง แต่ซื้อโดยทางอ้อม ก็ย่อมเข้าข่ายตามประกาศดังกล่าว ซึ่งโดยวิญญูชนที่ปฏิบัติกันการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE-DTAC ถือเป็นการถือครองในธุรกิจเดียวกัน แต่ทั้งนี้ คงต้องรอดูว่าทางทีมกฎหมายของทั้ง 2 บริษัท จะมีข้อต่อสู้ในเรื่องนี้อย่างไร เพื่อมาประกอบการพิจารณาของ กสทช.ว่าการควบรวมกิจการครั้งนี้เป็นการถือครองธุรกิจเดียวกันหรือไม่

นายแพทย์ประวิทย์ เปิดเผยว่า ในระหว่างที่ทำหน้าที่ประธานอนุกรรมรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอต่อ กสทช.ได้เชิญตัวแทนทั้ง TRUE-DTAC มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะที่จะเกิดขึ้นกับการรวมกันของทั้ง 2 บริษัท แต่ปรากฏว่าทั้ง 2 บริษัทไม่ได้ให้ข้อมูลใดๆ โดยบอกเพียงว่า เป็นข้อมูลทางธุรกิจที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ จึงเป็นที่มาที่คณะอนุกรรมการเสียงข้างมาได้ลงความเห็นว่า ดีลการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE-DTAC ไม่ควรจะเกิดขึ้น จนกว่าเอกชนจะได้การชี้แจงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับสาธารณะ

อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ประวิทย์ ได้เตือนไปยังคณะกรรมการ กสทช.ทั้ง 5 คน ให้พิจารณาประเด็นดังกล่าวตามหลักข้อเท็จจริง และประเด็นทางข้อกฎหมายถึงอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ซึ่งที่ผ่านมาทั้งอนุกรรมการด้านกฎหมาย คณะกรรมการกฤษฎีกา และศาลปกครอง ต่างยืนยันว่า กสทช.มีอำนาจในการกำกับดูแลการควบรวมกิจการ หากไม่ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีอาญาได้

Back to top button