ควรรู้! ซื้อขาย “คาร์บอนเครดิต” ต้องผ่านรับรอง “อบก.”
ตลาดซื้อขายคาร์บอนในไทยเป็นลักษณะตลาดภาคสมัครใจ โดยผู้ที่ต้องการซื้อขายจะต้องยื่นขอเปิดทะเบียนบัญชีซื้อขายคาร์บอนเครดิตกับ “อบก.” ก่อน และหลังจากการซื้อขายและชำระเงินเกิดขึ้นแล้วทาง อบก. จะถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตจากบัญชีผู้ขายไปยังผู้ซื้อก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการนำคาร์บอนเครดิตไปใช้งานหรือกิจกรรมชดเชยคาร์บอนต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเทศไทยมีระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถือว่ายังเป็นภาคสมัครใจ ที่มีการซื้อขายคาร์บอน 2 รูปแบบ โดยหนึ่งในนั้น คือ ระบบ “Emission Trading Scheme (ETS)” หรือระบบ “cap and trade” ซึ่งจัดเป็นตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory carbon market) อย่างไรก็ดีในกรณีของประเทศไทยนั้นก็มีการริเริ่มตลาดคาร์บอนในลักษณะ ETS เหมือนกัน
ขณะที่ภาคสมัครใจ ภายใต้การพัฒนาโดย อบก. ซึ่งมีชื่อว่า “ระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภาคสมัครใจของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Trading Scheme: Thailand V-ETS)” ซึ่งจะมีระบบการตรวจวัดรายงาน และทวนสอบ (Measurement, Reporting, and Verification System) หรือ ระบบ MRV ที่พัฒนาจากมาตรฐานสากล ISO 14064-1, 14064-3 และ 14065
อย่างไรก็ดี ระบบ Thailand V-ETS ยังเป็นเพียงโครงการนำร่องเพื่อเตรียมความพร้อมในหลายด้าน เช่น การพัฒนากฎการดำเนินงานและรูปแบบการซื้อขายสิทธิ การทดสอบระบบ MRV และการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม โดยในช่วงที่ผ่านมาโครงการนำร่องครอบคลุมอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก โรงกลั่นน้ำมัน ปูนซีเมนต์ เยื่อและกระดาษ แก้ว และพลาสติก
สำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตสามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) การซื้อขายผ่านแพลตฟอร์ม หรือศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ และ 2) การซื้อขายในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC) ซึ่งเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ต้องการซื้อและผู้ขายโดยตรงโดยไม่ผ่านตลาด
ทั้งนี้การซื้อขายทั้ง 2 รูปแบบ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเป็นการซื้อขายในตลาดแรก (Primary market) ซึ่งเป็นการซื้อขาย ระหว่างเจ้าของโครงการลดหรือดูดซับก๊าซเรือนกระจกกับผู้ซื้อรายแรก หรืออาจเป็นการซื้อขายในตลาดรอง (Secondary market) ซึ่งเป็นการซื้อขายต่อมาจากผู้ซื้อรายแรกอีกทีโดยผู้ซื้อและผู้ขายนั้นอาจเป็นองค์กรหรือบุคคลก็ได้
นอกจากนั้น สัญญาการซื้อขายในตลาดคาร์บอนสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งประเภท Spot ซึ่งมูลค่าของการซื้อขายทั้งหมด เป็นไปตามมูลค่า ณ วันที่มีการถ่ายโอนเครดิต และประเภท Forward ซึ่งจะส่งมอบและชำระเงินตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า
สำหรับคาร์บอนเครดิตที่สามารถซื้อขายได้ในไทยนั้นจะต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก. (TGO) ซึ่งเป็นผู้ให้การรับรอง และทำหน้าที่เป็นผู้คุมระบบทะเบียนคาร์บอนเครดิต (Registry System) ภายใต้ “โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER)” โดยผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถยื่นข้อเสนอโครงการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นโครงการ T-VER ต่อ อบก. และต้องผ่านการตรวจสอบความใช้ได้ และการทวนสอบจากผู้ประเมินภายนอก (Validation and Verification Body: VVB) ก่อนที่ อบก. จะรับรองปริมาณก๊าซ เรือนกระจก หรือคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะเรียกว่า “เครดิต TVERs” โดยมีรายละเอียด ขั้นตอนการพัฒนาโครงการ T-VER ในภาพรวม
อย่างไรก็ดี เครดิต TVERs นั้น ยังไม่สามารถนำไปขายในระดับต่างประเทศได้ แต่กระนั้น อบก. กำลังมีแผนที่จะพัฒนาเครดิต TVERs ให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล รวมถึงสอดคล้องและเป็นที่ยอมรับในโครงการสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกของนานาชาติ เช่น โครงการชดเชยและการลดคาร์บอนสำหรับการบินระหว่างประเทศ (Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation: CORSIA) ซึ่งดำเนินการโดยองค์การ การบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยกำหนดให้สายการบินระหว่างประเทศต้องตรวจสอบและรายงานการปล่อยมลพิษ
รวมถึงใช้กลไกการชดเชยและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย การรักษาระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ สุทธิของภาคการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ไม่ให้เกินกว่าระดับของปี 2563 โดยในปี 2564-2563 จะเป็นลักษณะภาคสมัครใจ ขณะที่ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป จะเริ่มบังคับใช้อย่างจริงจัง ซึ่งปัจจุบัน CORSIA จะยอมรับ คาร์บอนเครดิต (Eligible carbon offset) เพียง 8 มาตรฐานเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังรวมถึงการพัฒนาเครดิต TVERs ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดในการดำเนินความ ร่วมมือที่มีการใช้กลไกตลาดระหว่างประเทศ ตามความตกลงปารีส (Article 6 of the Paris Agreement) ซึ่งมีความชัดเจนมากขึ้นในการประชุม COP26 ในปีที่ผ่านมา
ในปัจจุบันนี้ตลาดซื้อขายคาร์บอนในไทยเป็นลักษณะตลาดภาคสมัครใจ โดยมีรูปแบบการซื้อขายที่เป็นการเจรจาต่อรองระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายโดยตรง (Over-the-counter: OTC) และส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายในตลาดแรกมากกว่าตลาดรอง โดยผู้ที่ต้องการซื้อขายจะต้องยื่นขอเปิดทะเบียนบัญชีซื้อขายคาร์บอนเครดิตกับ อบก. ก่อน และหลังจากการซื้อขายและชำระเงินเกิดขึ้นแล้ว ทาง อบก. จะถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตจากบัญชีผู้ขายไปยังผู้ซื้อก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการนำคาร์บอนเครดิตไปใช้งานหรือกิจกรรมชดเชยคาร์บอนต่อไป
จากนั้นผู้ซื้อและผู้ขายคาร์บอนเครดิตสามารถซื้อขายได้ผ่าน Carbon Markets Club ซึ่งเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและใบรับรอง การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate – REC) ภายใต้การก่อตั้งของกลุ่มบางจากฯ และพันธมิตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเครือข่ายพันมิตร กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา “เเพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดเเละคาร์บอนเครดิต (RE & CC Exchange Platform)” ซึ่งจะเป็นศูนย์ซื้อขายใบรับรองพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิตหลัก ของประเทศไทย ที่โปร่งใส ถูกต้อง เชื่อถือได้ สามารถรายงานระดับราคาที่ยุติธรรม และมุ่งพัฒนาไปสู่การซื้อขายในระดับสากล
โดยผู้ซื้อและผู้ขายสามารถส่งคำสั่งซื้อ และขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์แล้วระบบจะทำการเรียงลำดับและจับคำสั่งซื้อขาย ให้โดยอัตโนมัติ โดยสามารถซื้อขายได้ 4 มาตรฐาน คือ T-VER, VERRA, Gold Standard และ I-REC ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มใช้งานได้ภายในปี 2565 นี้