“ทองคำ” ปิดร่วง 25.5 เหรียญ รับแรงกดดัน “ดอลลาร์แข็ง-บอนด์ยีลด์พุ่ง”
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วง 25.5 เหรียญ ลงมาแตะ 1,655.6 ดอลลาร์/ออนซ์ ต่ำสุดในรอบ 2 ปี โดยถูกกดดันจากดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และบอนด์ยีลด์ระยะสั้นเพิ่มขึ้น ท่ามกลาง เฟด เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และอาจทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันศุกร์ (23 ก.ย.65) แตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี โดยถูกกดดันจากการที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างๆ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นพุ่งขึ้น ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และอาจทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 25.5 ดอลลาร์ หรือ 1.52% ปิดที่ 1,655.6 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย. 2563 และร่วงลง 1.7% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 70.7 เซนต์ หรือ 3.6% ปิดที่ 18.91 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ร่วงลง 47.3 ดอลลาร์ หรือ 5.22% ปิดที่ 858.7 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 104.50 ดอลลาร์ หรือ 4.8% ปิดที่ 2,070.50 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาทองคำถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ท่ามกลางแนวโน้มที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจะลดความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ขณะที่การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินของเฟดพุ่งขึ้นเหนือระดับ 4.2% ในวันศุกร์ และอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีและ 30 ปี
โดยการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวสูงกว่าระยะยาว ส่งผลให้ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย
อย่างไรก็ตาม เฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมครั้งล่าสุด พร้อมกับส่งสัญญาณว่าเฟดจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปจนแตะระดับ 4.6% ในปี 2566