KBANK ชี้กรอบ “เงินบาท” สัปดาห์หน้า 37.00-37.80 บ. จับตาผลประชุมกนง.-ตัวเลขส่งออกไทย
KBANK คาดกรอบ “เงินบาท” สัปดาห์หน้า 37.00-37.80 บ. จับตาผลการประชุมกนง.โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ยและมุมมองต่อสถานการณ์เงินบาท และตัวเลขส่งออกไทยเดือนส.ค. รวมถึงกระแสเงินทุนต่างชาติ
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK มองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (26-30 ก.ย.65) ที่ระดับ 37.00-37.80 บาท/ดอลลาร์ จากปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ 23 ก.ย. 65 ที่ระดับ 37.55 บาท/ดอลลาร์ หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 16 ปีที่ 37.57 บาท/ดอลลาร์
สำหรับในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาททำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 16 ปีครั้งใหม่ โดยเงินบาทปรับตัวในกรอบแคบ ก่อนจะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้งในช่วงหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งยังคงส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งต่อเนื่องจากการประชุมในรอบนี้ (20-21 ก.ย.65) ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ไปที่กรอบ 3.00-3.25% พร้อมปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อและมุมมองต่อระดับดอกเบี้ยนโยบายใน dot plots
นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับสกุลเงินเอเชีย และสถานะขายสุทธิพันธบัตรไทยของต่างชาติด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ เงินบาทมีจังหวะที่สามารถลดช่วงอ่อนค่าลงบางส่วนในระหว่างสัปดาห์ตามการดีดกลับของค่าเงินเยน หลังจากที่ทางการญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงตลาดด้วยการซื้อเงินเยนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2541
อย่างไรก็ดีเงินบาทกลับไปอ่อนค่าอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจโลก ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนอย่างแข็งแกร่งจากการปรับขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ตามแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด
โดยในสัปดาห์หน้าปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ยและมุมมองต่อสถานการณ์เงินบาท และตัวเลขส่งออกเดือนส.ค. ของไทย รวมถึงกระแสเงินทุนต่างชาติและสถานการณ์ค่าเงินในภูมิภาค
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย. ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย และอัตราเงินเฟ้อ PCE/Core PCE Price Index เดือนส.ค. ดัชนีราคาบ้านเดือนก.ค. และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/65 (final)
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางอินเดีย อัตราเงินเฟ้อเดือนก.ย. ของยูโรโซน และข้อมูลเศรษฐกิจจีน อาทิ กำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค. และดัชนี PMI เดือนก.ย.