ไทยซื้อขาย “คาร์บอนเครดิต” โครงการ “T-VER” 8 เดือนแรกปี 65 โต 425%
ไทยซื้อขาย “คาร์บอนเครดิต” โครงการ “T-VER” 8 เดือนแรกปี 65 โต 425% เมื่อเทียบกับปริมาณทั้งปี 64 แม้ว่าตลาดซื้อขายคาร์บอนในไทยยังมีขนาดเล็กในช่วง 8 เดือนแรกปี 65 คิดเป็นเพียง 0.3% ของก๊าซเรือนกระจกจากประเทศไทยปล่อยทั้งหมดต่อปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาวะและแนวโน้มตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่มีการเข้าร่วมโครงการ T-VER เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 อบก. ได้รับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกภายใต้โครงการ T-VER กว่า 3 ล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่า เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 ก็คิดเป็น 99.6% ของทั้งปี 2564 แล้ว อย่างไรก็ดีหากดูข้อมูลทั้งปี 2564 พบว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกในโครงการ T-VER คิดเป็นเพียง 0.9% ของก๊าซเรือนกระจกที่ไทยปล่อย ทั้งหมดต่อปีสะท้อนว่ายังมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก ทั้งนี้ในช่วงปี 2558 ถึงสิงหาคม 2565 โครงการ T-VER ส่วนใหญ่กว่า 63% คือโครงการพัฒนาพลังงานทดแทน เช่น โครงการผลิตพลังงานชีวมวลมิตรผล (ด่านช้าง) โดย บริษัท มิตรผล ไบโอเพาเวอร์ จำกัด (ด่านช้าง) และโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ที่นครสวรรค์ ประเทศ ไทย โดย บริษัท อีเอ โซล่า นครสวรรค์ จำกัด
สำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตไนไทยขยายตัวในระดับสูง โดยใน 2564 มีปริมาณการซื้อขาย คาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้น 61% ขณะที่ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 ก็เพิ่มขึ้นมากถึง 425% เมื่อเทียบกับปริมาณทั้งปี 2564 นอกจากนั้น หากพิจารณาในเชิงมูลค่า พบว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 มีมูลค่า 124.8 ล้านบาท ขยายตัวสูงถึง 1,228% เมื่อเทียบกับทั้งปี 2564 หลังจากราคาคาร์บอนเครดิตปรับตัวสูงขึ้นมากจากปี 2564 ที่เฉลี่ย 34 บาทต่อตันคาร์บอนฯ เป็น 107 บาทต่อตันคาร์บอนฯ ในปี 2565
อย่างไรก็ดี ตลาดซื้อขายคาร์บอนในไทยยังมีขนาดเล็ก โดยในปี 2564 คิดเป็นเพียง 0.1% และในช่วง 8 แรกของปี 2565 คิดเป็นเพียง 0.3% ของก๊าซเรือนกระจกที่ประเทศไทยปล่อย ทั้งหมดต่อปีตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่ามาตรการ ด้านราคาคาร์บอนในต่างประเทศอยู่มาก เช่น ระบบ Emissions Trading Scheme (ETS) ของยุโปที่ครอบคลุม 36% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในยุโรป 2 ขณะที่งานวิจัยของ World bank ล่าสุดชี้ว่ามาตรการด้านราคา คาร์บอน ทั้งการเก็บภาษีคาร์บอน และระบบ ETS ในปัจจุบันน้ัน ครอบคลุม 23% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก
ทั้งนี้ราคาคาร์บอนในไทยแม้เพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยจากการศึกษาของ World bank ล่าสุดพบว่า ณ เมษายน 2565 ค่ากลางของราคาคาร์บอนอยู่ที่ 25 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันคาร์บอนฯ และมีหลายประเทศที่ราคาคาร์บอนสูงกว่าไทยมาก เช่น ระบบ ETS ของยุโรปที่อยู่ที่ราว 80-100 ดอลลาร์ฯต่อตัน 3 สูงกว่าไทย เกินกว่า 25 เท่า และระบบ ETS ของเกาหลีใต้ ที่มีราคาคาร์บอนสูงกว่าไทยราว 6 เท่าตัว
แม้มีหลายสาเหตุทำให้ราคาคาร์บอนในไทยอยู่ในระดับต่ำ แต่ส่วนหนึ่งอาจมาจากการมีคาร์บอนเครดิตคุณภาพสูง จากโครงการดูดซับก๊าซเรือน กระจก เช่น การปลูกป่า และการใช้เทคโนโลยี CCUS ในจำนวนที่น้อย หรือไม่มีเลย ซึ่งคาร์บอนเครดิต จากโครงการเหล่านี้ในกรณีต่างประเทศมักมีราคาสูง
ดังนั้นความตื่นตัวของภาคเอกชนจะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทยเติบโต หลังจากผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายเริ่มประกาศเป้าหมาย Net zero emission อย่างชัดเจน เช่น SCG, BCP, และ PTTGC ต่างตั้งเป้า Net zero emission ในปี 2593
นอกจากนั้น อบก. ได้จัดตั้งเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัล ประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network หรือ TCNN) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงภาคท้องถิ่น และชุมชน ในการยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็น การสร้างอุปสงค์คาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER อันจะช่วยสนับสนุนและขับเคลื่อนตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศให้มีสภาพคล่องและขยายตัวมากขึ้น
โดยปัจจุบันนี้มีภาคเอกชนเข้าร่วมเครือข่ายนี้แล้วกว่า 231หน่วยงาน 5 ขณะเดียวกันกลุ่มบางจากฯ ร่วมกับพันธมิตร ก่อตั้ง Carbon Markets Club (CMC) เมื่อปี 2564 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการชดเชยคาร์บอน และทำหน้าที่เป็นตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต และใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate – REC) ในประเทศไทย ปัจจุบัน CMC มีจำนวนสมาชิก 40 ราย
สำหรับในครึ่งปีแรกของปี 2565 ยอดซื้อขายคาร์บอนเครดิต TVER ผ่านCMC คิดเป็น 95% ของยอดซื้อขายทั้งประเทศที่รายงานโดย อบก. ในขณะที่ยอดขาย REC ซึ่งมีการรายงานตัวเลขเป็นรายปีนั้น เมื่อปี 2564 มีอัตราการซื้อขาย REC ผ่าน CMC คิดเป็น 27% ของยอดซื้อขายทั้งหมด
ทั้งนี้ สอดคล้องกับทิศทางระดับโลกที่หลายสำนักวิจัยคาดว่าตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต จะเติบโตมากถึง 100 เท่า ในปี 2593 อาทิ งานวิจัยของ McKinsey คาดว่าในปี 2573 ความต้องการคาร์บอนเครดิตในตลาดซื้อขายคาร์บอนภาคสมัครใจจะเติบโต 15 เท่า จากปี 2563 จนแตะระดับ 1.5-2 กิกะตันคาร์บอนฯ (GtCO2) ต่อปี และเติบโตมากถึง 100 เท่า จนมาอยู่ที่ราว 7-13 กิกะตันคาร์บอนฯ (GtCO2) ต่อปี ในปี 2593
หมายเหตุ: ข้อมูลจาก Krungthai COMPASS :ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต และใบรับรองพลังงานหมุนเวียน https://krungthai.com/Download/economyresources/EconomyResourcesDownload_474REC_2_9_65.pdf