“กรมอุตุ” ตั้งวอร์รูมเฝ้าระวัง “พายุโนรู” เตือนรับมือฝนหนัก 28 ก.ย.-1 ต.ค.นี้

กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดศูนย์ติดตามสถานการณ์พายุโซนร้อน "โนรู" คาดภาคอีสานด่านแรก เตือนรับมือน้ำมากกว่า 100 มิลลิเมตร/วัน 28 ก.ย.-1 ต.ค.นี้


นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานเปิดศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์พายุโซนร้อน “โนรู (NORU)” เนื่องจากพายุดังกล่าวจะเข้าเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยช่วงวันที่ 27 ก.ย.-1 ต.ค. 65 ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ประกอบกับประเทศไทยมีน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ โดยคาดว่าปริมาณน้ำจะมากกว่า 100 มิลลิเมตร/วัน ในบางจังหวัด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก

ทั้งนี้ในการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว เพื่อเป็นการประเมินและรายงานสถานการณ์พายุร่วมกับศูนย์อุตุนิยมวิทยาภูมิภาคทั้ง 5 ศูนย์ ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่, จ.ขอนแก่น, จ.อุบลราชธานี, จ.สงขลา และ จ.ภูเก็ต โดยการทำงานของศูนย์อำนวยการฯ จะดำเนินการร่วมกับสถานีอุตุนิยมวิทยาในจังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ หรือบริเวณที่พายุจะเคลื่อนผ่าน โดยจะร่วมกันประเมินสถานการณ์ของพายุ

ขณะเดียวกันยังได้มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ  กรมชลประทาน และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการบริหารจัดการพื้นที่ แก้ปัญหาการระบายน้ำ รวมทั้งแจ้งเตือนสภาพอากาศ และสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบ

สำหรับเส้นทางของพายุโนรู ในวันที่ 28 ก.ย. พายุเข้าประเทศเวียดนาม ทำให้ฝนตกหนักมาก 100 มิลลิเมตร/วัน บริเวณ จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และในวันที่ 29 ก.ย. จะเข้ามาถึงบริเวณภาคเหนือตอนล่าง บริเวณ เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิษณุโลก พื้นที่เหล่านี้จะมีฝนตกหนักมาก ในขณะที่พื้นดินบริเวณดังกล่าวอิ่มน้ำหมดแล้ว ดังนั้น มีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากได้แน่นอน

“สถานการณ์หลังวันที่ 30 ก.ย. ยังไม่มีพายุเข้ามา ภาพรวมปริมาณน้ำฝนไม่มากเท่ากับปี 54 แต่ในครั้งนี้มีฝนตกหนักในบางพื้นที่ มีน้ำท่วมขัง ซึ่งพายุลูกนี้จะผ่านประมาณ 20-30 จังหวัด ถือว่าครั้งนี้กระทบประชาชนหลายล้านคนแน่นอน” นายชัยวุฒิ กล่าว

ทั้งนี้ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องน้ำอยู่แล้ว ถ้ามีพายุเข้ามาก็จะเป็นการซ้ำเติม จึงต้องมีการจัดตั้งศูนย์ฯ นี้ขึ้นมา ที่ผ่านมาที่มีฝนตกในไทยไม่ใช่อิทธิพลของพายุ แต่เป็นร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทย

“กทม. ต้องเตรียมรับมือกับพายุลูกนี้พอสมควร เพราะมีปัญหาเรื่องการระบายน้ำแน่นอน ตอนนี้ กทม. น้ำเต็มพื้นที่ ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบางพื้นที่สูง ที่สำคัญคือถ้ามีจุดใดน้ำท่วมขังหนักจนประชาชนไม่สามารถเดินทางได้ ก็ต้องมีการแจ้งเตือนประชาชน อยากเห็นหน่วยงานในพื้นที่แจ้งเตือนประชาชนว่ามีปริมาณฝน และจุดน้ำท่วมบริเวณใด เส้นทางใดวิ่งไม่ได้ ประชาชนจะได้ไม่ออกมา จะได้ไม่ต้องเอารถมาติดอยู่บนถนนที่น้ำท่วม อยากให้แจ้งเตือนว่าจุดไหนระบายน้ำไม่ทัน หรือน่าจะมีน้ำท่วมขังจากพยากรณ์อากาศระหว่างวัน” นายชัยวุฒิ กล่าว

นายธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันต์ชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ช่วงค่ำของวันที่ 27 ก.ย. พายุโนรูจะเริ่มเคลื่อนตัวเข้าประเทศไทย และในวันที่ 28 ก.ย. พายุจะเข้ามามากขึ้น ความแรงของลมไม่เกิน 63 กม./ชม ลมไม่แรง แต่มีฝนตกหนัก โดยบริเวณที่พายุโนรูจะเข้าประเทศไทย คาดว่าจะอยู่ในแนวของ จ.มุกดาหาร อุบลราชธานี ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ปริมาณน้ำจะมากบริเวณ จ.อุบลราชธานี มุกดาหาร อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ จะมีปริมาณน้ำเกิน 100 มิลลิเมตร/วัน

ส่วนในวันที่ 29 ก.ย. พายุจะเข้าสู่ตอนกลางของประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่าง อีสาน กลาง และตะวันออก ในฝั่งทะเลอันดามันน่าเป็นห่วง ฝั่งอ่าวไทยคลื่นจะสูงขึ้นประมาณ 2-3 เมตร เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง สำหรับผลกระทบของพายุจะมีถึงวันที่ 30 ก.ย. บริเวณภาคเหนือ กลาง ตะวันออก และภาคใต้ยังคงมีฝนอยู่ หลังจากนั้นพายุจะเคลื่อนออกจากไทย แต่ฝนยังคงมีอยู่เนื่องจากร่องมรสุม และฝนจะเริ่มเบาลงเรื่อยๆ ใน 3-4 วัน

“พายุโนรูเดินในแนวตะวันตกค่อนไปทางเหนือเล็กน้อย ลูกต่อไปยังไม่เป็นพายุ เส้นทางการเดินของพายุโนรูจะคล้ายพายุเตี้ยนหมู่ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว พายุโนรูเข้าไทยเป็นพายุดีเปรสชัน ความรุนแรงคืออีสานตอนล่างจะลมแรง และให้น้ำมาก ซึ่งถ้ามีน้ำท่วมเราแจ้งเตือนตลอดเวลา ประชาชนมีเวลาเตรียมตัวประมาณ 3 ชั่วโมง” นายธนะสิทธิ์ กล่าว

ด้าน นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยาได้รับการแจ้งเตือนว่า บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกได้ตรวจพบพายุโซนร้อนเกิดขึ้นอีกหนึ่งลูก คือพายุกุหลาบ (KULAP) แต่มีทิศทางเคลื่อนที่ไปทางเหนือ ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด

Back to top button