สธ. เปิดแผนคุมโควิด หลัง 1 ต.ค. ยันรักษา-ยาฟรีตามสิทธิ

สธ. แถลงแผนปฏิบัติการควบคุมป้องกันโควิด-19 หลังยุบ ศบค. และปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง 1 ต.ค.นี้ ตรวจ ATK เมื่อมีอาการ ยันรักษา-ยาฟรีตามสิทธิ หากอาการวิกฤตใช้ UCEP Plus ได้


ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขร่วมกันเปิดเผยมาตรการป้องและควบคุมโรคโควิด-19 หลังยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินและยุบ ศบค.

โดยนายอนุทิน กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลกรวมทั้งไทย กำลังกลับเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงปกติ มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในระดับต่ำมาก ภาพรวมมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้นมาก ส่วนประเทศไทยถือว่าประสบผลสำเร็จในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 จนได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกและประชาคมโลก ดังนั้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านจึงได้เซ็นประกาศยกเลิก “โควิด 19” เป็นโรคติดต่ออันตราย และปรับเป็น “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง” ตามคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีผลในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

นากจากนี้ที่ประชุม ศบค.เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา ได้เห็นชอบยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งแห่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด มีผลวันที่ 30 กันยายนนี้ และให้หน่วยงานต่างๆ นำมาตรการตามกฎหมายเข้ามาแก้ไขปัญหาตามปกติ

อย่างไรก็ดีได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด-19 เพื่อรองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เป็นกรอบการดำเนินงานให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป ยืนยันว่า ภายใต้กลไกของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ยังสามารถบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนแผนได้ต่อเนื่อง โดยไม่กระทบสิทธิของประชาชน และรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยให้ยั่งยืนต่อไปได้

ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเตรียมแผนรับมือสำหรับการเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง พร้อมให้ความมั่นใจในการดำเนินกิจกรรมและกิจการต่างๆ และลดมาตรการบางอย่างเช่นเดียวกับทั่วโลกเพื่ออำนวยความสะดวกในการท่องเที่ยว เช่น ไม่ต้องแสดงผลการตรวจหาเชื้อโควิด โดยปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าไทย 1 ล้านคน/เดือน พร้อมยกเลิกการรายงานสถานการณ์โควิดตั้งแต่ 1 ตุลาคมนี้ แต่ระบบการติดตามเฝ้าระวังและรายงานผลในการสอบสวนยังดำเนินอยู่ปกติ

นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาลในสังกัด 900 กว่าแห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อีกกว่า 9,000 แห่ง มีบุคลากรทางการแพทย์กว่า 4 แสนคน จึงมีความพร้อมที่จะการดูแลผู้ป่วยโควิด-1919 อีกทั้งยังมียาฟาวิพิราเวียร์คงเหลือ 5.6 ล้านเม็ด ใช้เฉลี่ย 5.8 หมื่นเม็ดต่อวัน เพียงพอใช้ 3.1 เดือน, ยาโมลนูพิราเวียร์คงเหลือ 20.3 ล้านเม็ด ใช้เฉลี่ย 1.48 แสนเม็ดต่อวัน เพียงพอใช้ 4.5 เดือน และยาเรมดิซีเวียร์คงเหลือ 2.3 หมื่นขวด ใช้เฉลี่ย 1.2 พันขวดต่อวัน เพียงพอใช้ครึ่งเดือน

อย่างไรก็ดีมีแผนจะจัดซื้อยาฟาวิพิราเวียร์เพิ่ม 10 ล้านเม็ด เพียงพอใช้ 5.5 เดือน ยาโมลนูพิราเวียร์ 35 ล้านเม็ด เพียงพอใช้ 7.2 เดือน และยาเรมดิซีเวียร์ 3 แสนขวด เพียงพอใช้ 8.2 เดือน และหากในอนาคตผู้ป่วยน้อยลงจะมียาใช้ได้นานกว่าที่ประมาณการไว้

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง วันที่ 26 กันยายน 2565 มีผู้ป่วยรายใหม่ 319 ราย เสียชีวิต 8 ราย อัตราเสียชีวิต 0.1% ผู้ป่วยกำลังรักษาในโรงพยาบาล 4,755 ราย ในจำนวนนี้มีอาการปอดอักเสบ 495 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 257 ราย อัตราครองเตียงระดับ 2-3 อยู่ที่ 7.8% ขณะที่ผู้ป่วยรายสัปดาห์ที่รักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักที่บ้าน (เจอ แจก จบ) และ Home Isolation มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน พร้อมกันนี้คาดการณ์ว่าหลังจากนี้จะพบการระบาดของโรคโควิด-19 เป็น Small Wave ลักษณะเป็นตามฤดูกาลเหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่ และมีอัตราเสียชีวิตใกล้เคียงกันคือ 0.01%

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ประชาชนยังสามารถรักษาพยาบาลโรคโควิด-19 ได้ฟรีจากกองทุนสุขภาพที่ผู้ป่วยมีสิทธิ เช่น หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ เป็นต้น ส่วนกรณีผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการฉุกเฉินวิกฤตสีแดง สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ทั้งสถานพยาบาลภาครัฐหรือเอกชนตามสิทธิ UCEP Plus จนกว่าจะหายป่วย ซึ่งแตกต่างจากสิทธิ UCEP ปกติที่เมื่อครบ 72 ชั่วโมงจะต้องส่งกลับไปรักษาที่สถานพยาบาลตามสิทธิ โดยสถานพยาบาลจะเบิกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามระบบ UCEP Plus ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนแรงงานต่างด้าวหากมีประกันสุขภาพก็สามารถใช้ประกันในการรักษาได้ฟรี

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการปรับปรุงแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโควิด (ไกด์ไลน์) เป็นครั้งที่ 25 รวมแล้ว 2 ปี 9 เดือน มีไกด์ไลน์แล้ว 26 ฉบับ โดยแนวทางนี้เป็นร่างที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังสรุปเพื่อนำเสนอที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (EOC) กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 28 กันยายนนี้ เพื่อเริ่มใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2565 โดยผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย ปอดปกติ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงหรือโรคร่วมสำคัญ สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอก ปฏิบัติตาม DMHT อย่างเคร่งครัด 5 วัน

ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลาง แพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไปว่าต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลหรือไม่ ส่วนการให้ยา หากไม่มีอาการจะไม่ให้ยาต้านไวรัส ถ้ามีอาการไม่รุนแรง ปอดปกติ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่จำเป็นต้องให้ยา หรืออาจพิจารณาให้ฟ้าทะลายโจร หรือยาฟาวิพิราเวียร์ หากให้ต้องเริ่มเร็วที่สุดภายใน 3-4 วัน ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงแต่มีปัจจัยเสี่ยง หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบ พิจารณาให้ยาต้านไวรัสตัวใดตัวหนึ่ง โดยเริ่มจากยาแพกซ์โลวิดก่อน หากไม่ได้ค่อยเป็นยาเรมดิซีเวียร์ และโมลนูพิราเวียร์ตามลำดับ

สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ใช้ยาแพกซ์โลวิดและโมลนูพิราเวียร์ไม่ได้ เนื่องจากไม่มีการศึกษาวิจัย หากมีอาการไม่มากให้ดูแลรักษาตามอาการ หรืออาจพิจารณาใฟ้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นเวลา 5 วัน แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงหรืออาการเสี่ยงมากก็ให้เรมดิซีเวียร์ 3 วันหรือฟาวิพิราเวียร์ 5 วัน หรือหากอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไปให้แพกซ์โลวิด ส่วนกรณีปอดอักเสบให้เรมดิซีเวียร์ 5-10 วัน

Back to top button