“กรมชล” เร่งระบายน้ำชี-มูลล้นทะลัก รับน้ำหลากพายุ “โนรู”

“กรมชลประทาน” เร่งติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ เพื่อรับมือน้ำหลากจากพายุไต้ฝุ่น "โนรู" ที่มีโอกาสเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย 28 ก.ย. 65


นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

นายประพิศ เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิมยมวิทยา เรื่อง พายุไต้ฝุ่น “โนรู (NORU)” ที่มีโอกาสเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย ในช่วงวันที่ 28 ก.ย. 65 อาจทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนล่าง มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ก่อนจะเคลื่อนตัวมายังบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 65

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมรับมือสถานการณ์ฝนที่เพิ่มขึ้น ได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมตรวจสอบและควบคุมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด พิจารณาพร่องน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่จะเพิ่มขึ้น โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้าย

ขณะเดียวกัน พร้อมปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินต้องสามารถเข้าไปแก้ไขได้ทันที รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ประจำจุดเสี่ยงให้พอเพียงและพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อเสริมประสิทธิภาพการระบายน้ำให้ได้มากที่สุด

นายประพิศ กล่าวว่า ที่สำคัญให้นำ 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนด มาเป็นแนวทางในการเตรียมรับมือ พร้อมบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมทุกมิติ สอดคล้องกับสถานการณ์ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้สำรองใช้ในฤดูแล้งหน้า ตลอดจนร่วมบูรณาการกับทุกหน่วยงานในการเตรียมรับมือ และให้ความช่วยเหลือประชาชน เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์

ด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปัจจุบัน (26 ก.ย. 65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 54,416 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 72% ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 21,692 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 15,967 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 64% ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 8,904 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับเขื่อนภูมิพล ยังคงมีปริมาณน้ำอยู่ใน 51% ของความจุอ่างฯ เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำอยู่ใน 48% ของความจุอ่างฯ ซึ่งยังมีพื้นที่สำหรับรับน้ำได้อีก อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกัก 80% ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมนำข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ มาพิจารณาปรับการระบายน้ำให้เหมาะสม

ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี-มูล ปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้น จนไหลล้นตลิ่งบางแห่ง กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 6, 7 และ 8 ได้บูรณาการร่วมกันในการบริหารจัดการน้ำและจัดจราจรน้ำ พร้อมทั้งยกบานประตูระบายน้ำ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดัน ตลอดแนวแม่น้ำชี-มูล เพื่อเร่งระบายน้ำในลำน้ำชีและมูล ลงสู่แม่น้ำโขงโดยเร็ว เพื่อเตรียมรองรับปริมาณฝนที่จะเพิ่มขึ้นในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมสอดคล้อง พร้อมให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยไปจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หรือจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน โดยขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำ จากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด

Back to top button