“เงินบาท” อ่อนค่าทะลุ 38 บ. รอบ 16 ปี หวั่นดอลลาร์แข็งต่อเนื่อง
“เงินบาท” อ่อนค่าทะลุ 38 บาท/ดอลลาร์ รอบ 16 ปี กังวลดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง จับตา กนง. คาดปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1% ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ค่าเงินบาทวันนี้ (28 ก.ย.65) เปิดตลาดทยอยปรับตัวลดลงและอ่อนค่าลงมาแตะที่ 38 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี โดยแนวโน้ม USD Index ยังแข็งค่าต่อเนื่อง โดย ณ เวลา 9:25 น. เงินบาทอ่อนค่าอยู่ที่ 38.08 บาท/ดอลลาร์
ทั้งนี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 37.50-38.00 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 37.46 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 36.82-37.46 บาท/ดอลลาร์
โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี ขณะที่สกุลเงินภูมิภาคทำสถิติต่ำสุดในรอบหลายปีเช่นกันหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวต่อไป
ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าในการประชุมกนง. ที่จะถึงนี้ คาดว่ากนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1% ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี กนง. คงจะยังทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้า ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวและยังคงเปราะบางจากหนี้ในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดย กนง. คงหลีกเลี่ยงที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแรงเนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ขณะที่ กนง. คงมีมุมมองว่าการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปีนี้จะช่วยพยุงให้ค่าเงินพลิกกลับมาแข็งค่าได้บ้าง อีกทั้ง กนง. ยังคงมีมุมมองว่าเสถียรภาพด้านอัตราแลกเปลี่ยนคงเป็นประเด็นระยะสั้น และยังพอมีเวลาที่จะติดตามสถานการณ์และเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินได้ในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ ในการประชุมที่จะมีขึ้นวันที่ 28 ก.ย.นี้ หาก กนง. มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% ตามคาด อาจมีแรงกดดันให้ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามตัวเลขเงินเฟ้อและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลต่อแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและค่าเงินดอลลาร์ฯ รวมถึงดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่จะส่งผลต่อแนวโน้มค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า