ANAN จ่อออกหุ้นกู้ 2 รุ่น ชูดอกเบี้ยสูง 5.70% ขายนักลงทุนทั่วไป เปิดจองปลาย ต.ค.นี้
ANAN เตรียมออกหุ้นกู้ 2 รุ่น อายุ 1-2 ปี ชูอัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.30-5.70% เสนอขายนักลงทุนทั่วไป คาดเปิดจองวันที่ 31 ต.ค.65 และ 1-2 พ.ย. 65 ขณะที่ “ทริส” จัดอันดับความน่าเชื่อถือ BBB- มีแนวโน้ม “คงที่”
นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN ผู้นำแห่งวงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับคนเมือง ครองตำแหน่งผู้นำตลาดคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้า เปิดเผยว่า บริษัทได้ยื่นข้อมูลเพื่อเสนอขายหุ้นกู้ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.)
โดยเป็นหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ จำนวน 2 รุ่น ประกอบด้วยรุ่นอายุ 1 ปี 2 เดือน 12 วัน อัตราดอกเบี้ย 4.30-4.50% ต่อปี และรุ่นอายุ 2 ปี 6 เดือน อัตราดอกเบี้ย 5.50-5.70% ต่อปี โดยจะประกาศอัตราดอกเบี้ยที่แน่นอนในภายหลัง กำหนดจ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน
ทั้งนี้ หุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 ที่ระดับ “BBB-” เช่นเดียวกับอันดับเครดิตองค์กร และมีแนวโน้ม “คงที่” (Stable)
พร้อมกันนี้ บริษัทได้แต่งตั้งสถาบันการเงิน 7 แห่งเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), และบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด โดยคาดว่าจะเสนอขายในช่วงวันที่ 31 ตุลาคม และ 1-2 พฤศจิกายน 2565
สำหรับ ANAN เป็นผู้ดำเนินธุรกิจด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งโครงการคอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยโครงการคอนโดมิเนียมจะเน้นพัฒนาบนทำเลศักยภาพใกล้สถานีรถไฟฟ้า เพื่อสร้างความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตของผู้พักอาศัย
ส่วนโครงการบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮม เน้นแนวคิดและการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในเซกเม้นท์ต่างๆ โดยในช่วงไตรมาสที่ 2/2565 เดือนเมษายนไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมียอดขายกว่า 3,900 ล้านบาท สูงกว่าไตรมาสแรกเกือบ 80%
ขณะที่ยอดโอนสูงกว่าไตรมาสแรก 148% หรือ 3,500 ล้านบาท และยังมียอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) กว่า 12,000 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนการฟื้นตัวของภาพรวมเศรษฐกิจที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ของผู้บริโภคที่มีความมั่นใจเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
“เชื่อว่าผู้ลงทุนจะให้ความสนใจลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัท เหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีความคึกคักมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากการเดินหน้าเปิดตัวโครงการ รวมถึงการดำเนินตามแผนการตลาดของหลายๆ โครงการ รวมถึงอนันดาฯ ที่มีแผนทำตลาดครึ่งปีหลังด้วยการเปิดตัวโครงการใหม่อีก 6 โครงการ มูลค่ากว่า 21,000 ล้านบาท ซึ่งแนวโน้มที่ดีขึ้นสอดรับกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน มาตรการต่างๆ ของภาครัฐในขณะนี้ก็เอื้ออำนวยต่อการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ของผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งเรามั่นใจว่า แนวโน้มที่ดีแบบนี้จะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และปัจจัยดังกล่าวจะยิ่งเพิ่มโอกาสในการเติบโตให้กับบริษัทฯ ในอนาคต รวมถึงจะเพิ่มความน่าสนใจให้กับผู้ลงทุนในการเลือกลงทุนหุ้นกู้ของบริษัทฯ ซึ่งเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในขณะนี้อย่างแน่นอน” นายชานนท์ กล่าว
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทประสบความสำเร็จจากการออกและเสนอขายหุ้นกู้ฯ ให้กับผู้ลงทุนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสการลงทุนภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และผลตอบแทนที่น่าพอใจ ซึ่งสะท้อนความมั่นใจของผู้ลงทุนที่พร้อมจะเติบโตไปกับบริษัท ด้วยฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง รวมถึงการมีโครงสร้างเงินลงทุนที่เหมาะสมกับการขยายธุรกิจตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้
ขณะเดียวกัน โครงการของบริษัทยังได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากพันธมิตรชั้นนำระดับอินเตอร์เนชั่นแนล ที่ผนึกความร่วมมือในการดำเนินโครงการต่างๆ รวมถึงสถาบันการเงินที่ให้การสนับสนุนบริษัทด้วยดีมาโดยตลอด
สำหรับกรณีคดีของโครงการแอชตัน อโศก เป็นการฟ้องร้องระหว่างผู้ฟ้องกับหน่วยงานของรัฐ โดยบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด “การร่วมค้า” ซึ่งเป็นบริษัทการร่วมค้าระหว่างอนันดาฯ และมิตซุย ฟูโดซัง ไม่ได้เป็นผู้ถูกฟ้อง โดยการร่วมค้ามีฐานะเป็น “ผู้ร้องสอด” ในคดีนี้
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาคดีโครงการแอชตัน อโศก ครั้งแรก โดยตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นว่า การออกใบอนุญาตดำเนินการโดยชอบ เห็นควรกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง (ศาลชั้นต้น) ให้ยกฟ้องจำเลยทุกคดี อย่างไรก็ตาม ความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีเป็นความเห็นโดยอิสระ จะต้องรอคำพิพากษาจากตุลาการที่เป็นเจ้าของสำนวนคดีแถลงอีกครั้ง