TSTE อัดงบ 180 ลบ. ขยายธุรกิจอาหาร-โซลาร์ รองรับดีมานด์เพิ่ม
บอร์ด TSTE ไฟเขียวทุ่มงบ 180 ล้านบาท ขยายธุรกิจอาหาร ธุรกิจบรรจุภัณฑ์และธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงาน คลังสินค้า หวังรองรับตลาดเติบโตเท่าตัว
นายชนะชัย ชุติมาวรพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยชูการ์ เทอร์มิเนิ้ล จำกัด (มหาชน) หรือ TSTE เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย ใช้งบลงทุนมูลค่า 180 ล้านบาท เพื่อลงทุนอาคารโรงงานและเครื่องจักร ขยายธุรกิจด้านขนมขบเคี้ยว (Snack) ธุรกิจบรรจุภัณฑ์และธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงาน คลังสินค้า
โดยการลงทุนดังกล่าวบริษัทฯ มีวัตถุประสงค์ เพื่อขยายธุรกิจที่มีอยู่ ให้รองรับและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการลงทุนนั้นแบ่งเป็นส่วนแรกจำนวน 70 ล้านบาท จะใช้สำหรับเป็นการขยายธุรกิจด้านขนมขบเคี้ยว หลังจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เข้าซื้อกิจการ บริษัท เนเจอร์เบสท์ฟู้ด จำกัด (Nature Best Food – NBF) บริษัทชั้นนำ ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายสาหร่าย สาหร่ายปรุงรส ขนมขบเคี้ยวและอาหารสำเร็จรูป NBF ถือได้ว่าเป็นผู้ครองตลาด อันดับต้นๆ ของประเทศ ในกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมกรรมและร้านอาหาร (Business to Business )
ขณะเดียวกันจากการดำเนินที่ผ่านมาในรอบ 3 เดือน โรงงานที่มีอยู่เดินใกล้เต็มความสามารถในการผลิตให้กับลูกค้า บริษัทฯ จึงเล็งเห็นโอกาสความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นในตลาดขนมขบเคี้ยว (Snack) และความต้องการสินค้าที่มีความหลากหลาย ทั้งในส่วนของตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ คณะกรรมการบริษัทฯ จึงได้มีมติอนุมัติให้ลงทุนขยายโรงงานเพิ่มอีก 2 แห่ง โดยเป็นการปรับปรุงโรงงานเก่าและคลังสินค้าที่มีอยู่เดิมมาเป็นโรงงานแห่งที่ 2 และโรงงานแห่งที่ 3 ลงทุนติดตั้งเครื่องจักรสายการผลิตใหม่ โดยคาดว่าโรงงานใหม่ทั้ง 2 แห่ง จะสามารถเปิดดำเนินการได้ในไตรมาสที่ 1/2566 และไตรมาส 3/2566 ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้ยอดขายในส่วนของสินค้าขนมขบเคี้ยว เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากเดิมที่มีรายได้ต่อปีอยู่ที่ 300 ล้านบาทต่อปี เป็น 600 ล้านบาทต่อปี
สำหรับการลงทุนส่วนที่ 2 จะเป็นการลงทุนขยายธุรกิจบรรจุและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นเงินลงทุน 50 ล้านบาท โดยปัจจุบันบริษัทย่อยของบริษัทฯ มีสายการผลิตขวด ฝาและสายการบรรจุน้ำมันพืช ซึ่งมีรายได้ส่วนหนึ่งมาจากการบรรจุน้ำมันพืชจากโรงกลั่นน้ำมันพืชของบริษัทฯ และรายได้อีกส่วนมาจากการรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับแบรนด์สินค้าต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ด้วยจุดเด่นของโรงงาน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณท่าเรือส่งออกและใกล้กับกรุงเทพ ทำให้สะดวกและง่ายต่อการกระจายสินค้า ประกอบกับความต้องการบรรจุสินค้าในลักษณะ House Brand เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการรองรับปริมาณความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นและความต้องการรูปแบบสินค้าบรรจุภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย
“คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติลงทุนขยายโรงงานเท่าตัว โดยปรับปรุงคลังสินค้าของบริษัทที่มีอยู่เดิม ติดตั้งสายการผลิตใหม่เพื่อให้มีบรรจุภัณฑ์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น โรงงานส่วนที่ขยายจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในไตรมาส 2 ปี 2566 สามารถรองรับบรรจุผลิตภัณฑ์อาหารในสินค้าอื่น ที่ไม่จำกัดเฉพาะน้ำมันพืชและสามารถบรรจุในรูปแบบบรรจุภัณฑ์อื่น” นายชนะชัย กล่าว
ด้านการลงทุนในส่วนที่ 3 จะเป็นการลงทุนของบริษัทย่อย ในการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาโรงงาน คลังสินค้า ในบริเวณท่าเรือและคลังสินค้าของบริษัทฯ ใช้งบลงทุนรวม 60 ล้านบาท โดยบริษัทฯ มีพื้นที่ทั้งหมด 150 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่ปู่เจ้าสมิงพราย จังหวัดสมุทรปราการ ใกล้กรุงเทพ พื้นที่จะประกอบด้วย ท่าเรือ โรงงานและคลังสินค้า เบื้องต้นบริษัทย่อยจะลงทุนแผงโซลาร์ขนาดไม่เกิน 1 MW จำนวน 2 แผง (รวมไม่เกิน 2 MW) พร้อมปรับปรุงระบบสายส่งไฟ ไฟฟ้าที่ได้จากแผงโซลาร์จะนำมาใช้เองในกระบวนการผลิตของบริษัทฯ เพื่อเป็นการลดต้นทุนทางด้านพลังงาน คาดว่าระบบแผงโซลาร์จะสามารถติดตั้งแล้วเสร็จกลางปี 2566