ธปท.แจงขึ้นดอกเบี้ย 0.25% มาถูกทาง-ชี้ ศก.ไทยต่างจากสหรัฐฯ
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้แจงการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย เพราะบริบทระหว่างไทยและสหรัฐฯ แตกต่างกัน
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ชี้แจงถึงกรณีที่นักเศรษฐศาสตร์ตั้งข้อสังเกต คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงร้อยละ 0.25 เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา น้อยเกินไป จนไม่สามารถสกัดการอ่อนค่าของค่าเงินบาท เนื่องจากส่วนต่างระหว่างไทยกับสหรัฐยังสูงจนเกิดเงินทุนต่างชาติไหลออกต่อเนื่องว่า ไทยไม่มีนโยบายในการผูกค่าเงินบาทกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และนโยบายการเงินของไทย ซึ่งไม่จำเป็นต้องดำเนินตามธนาคารกลางสหรัฐเช่นกัน เพราะเศรษฐกิจไทยและสหรัฐแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ดังนั้น การที่สหรัฐขึ้นดอกเบี้ยแรง ไทยไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่เท่ากัน การเอานโยบายการเงินของสหรัฐมาชี้นำเศรษฐกิจไทยคงไม่เหมาะ เพราะถ้าหากไทยขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐ ค่าเงินบาทของไทยจะแข็งค่าเกินสกุลเงินภูมิภาคทั้งหมด
ขณะที่ ธนาคารกลางสหรัฐ จะประชุมอีก 2 ครั้งก่อนถึงสิ้นปี กนง.ไทยจะประชุมอีกแค่ 1 ครั้งและถ้ามีเหตุผลที่จำเป็น กนง.สามารถจัดการประชุมนัดพิเศษได้ แต่ที่ผ่านมาตลาดได้รับรู้ถึงแนวทางการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในอีก 2 ครั้งแล้ว จึงเชื่อว่า ผลกระทบต่อตลาดการเงินจะมีไม่มากแล้ว
ด้านนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพด้านการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไม่ได้เป็นตัวกำหนดการไหลออกของเงินทุนต่างชาติเพียงอย่างเดียว เพราะแต่ละประเทศมีปัจจัยเฉพาะที่แตกต่างกัน แม้ว่าเงินบาทจะอ่อนค่าแต่ก็ยังมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าสุทธิ 3,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ทุนไหลออกเพียง 600- 700 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นระดับปกติไม่ได้น่ากังวล และที่ผ่านมาก็มีตัวอย่าง มีบางประเทศที่ขึ้นดอกเบี้ยอัตราที่สูงกว่าไทย แต่ค่าเงินก็ยังอ่อนค่า แม้ว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะไม่แตกต่างกับสหรัฐมากนัก
ดังนั้น การที่จะบอกว่าอัตราดอกเบี้ยเป็นตัวกำหนดเงินทุนไหลเข้าออกอาจไม่ถูกต้องหมด เพราะต้องดูความเป็นจริงและข้อมูลอื่นๆ ประกอบด้วย ซึ่งการที่ กนง. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อเนื่อง 2 ครั้ง เพราะเศรษฐกิจไทยแตกต่างจากเศรษฐกิจสหรัฐที่มีความร้อนแรงและเงินเฟ้อสูง ขึงต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงเงินสกัดเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อไทยระยะต่อไปจะปรับลดลง จากที่จะสูงสุดในช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 และจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในกลางปี 2566 และที่สำคัญการขึ้นดอกเบี้ยมากและเร็วจะกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง และอาจมีผู้ที่เดือดร้อน เพราะกลุ่มคนเปราะบางยังมีภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงอยู่ถึงร้อยละ 88 ต่อจีดีพี ในไตรมาส 2 ซึ่งสูงมากกว่าเกณฑ์ที่ไม่ควรเกินร้อยละ 80 ต่อจีดีพี