“สธ.” ย้ำกลุ่มเสี่ยงเร่งรับวัคซีน-เฝ้าระวังโควิด-19 ใกล้ชิด
“สธ.” ย้ำประชาชนเร่งรับวัคซีนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ควรเฝ้าระวังแม้ระดับโควิดจะมีการลดลง พร้อมแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อเข้าไปในสถานที่มีผู้คนแออัด
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 เป็นต้นมาโรคโควิด-19 ได้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ 2558 ซึ่งกำหนดให้มีการรายงานโรคเป็นรายสัปดาห์ ผ่านทางเว็บไซต์กรมควบคุมโรค
โดยเริ่มรายงานวันที่ 3 ต.ค. 65 ซึ่งเป็นการรายงานตัวเลขผู้ป่วยและเสียชีวิตในสัปดาห์แรก ระหว่างวันที่ 25 ก.ย.-1 ต.ค. 65 เป็นสัปดาห์ที่ 39 ของการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ซึ่งจำนวนผู้ป่วยโควิดที่รักษาในโรงพยาบาล รวม 4,435 ราย (เฉลี่ยวันละ 634 ราย) จำนวนเสียชีวิตในสัปดาห์ที่ผ่านมา 65 ราย (เฉลี่ยวันละ 9 ราย) ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 54 ราย เท่ากับ 83% และผู้เสียชีวิตช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเกินครึ่งเป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน จำนวน 36 ราย (55%) และมีอีก 15 ราย ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น (23%)
ดังนั้น ผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับวัคซีนตามเกณฑ์จะไม่ปลอดภัย อาจติดเชื้อเสียชีวิตได้ จึงขอย้ำเตือนให้ลูกหลานพาผู้สูงอายุในบ้านไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิดที่โรงพยาบาลของรัฐ หรือ ศูนย์ฉีดวัคซีนในจังหวัด และหากเป็นผู้ป่วยติดบ้านหรือติดเตียง สามารถแจ้งให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปฉีดวัคซีนให้ที่บ้านโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
“สำหรับช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สังเกตพบว่าประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติ แต่ส่วนใหญ่ยังคงสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะที่มีผู้คนแออัดจำนวนมาก ไม่มีรายงานการระบาด และจำนวนผู้ป่วยไม่มีการเพิ่มขึ้นผิดปกติแต่อย่างไร” นพ.ธเรศ กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข แนะนำแนวทางการป้องกันโควิดที่สมดุลกับวิถีชีวิตประชาชนในระยะที่เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หากใครมีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจต้องสวมหน้ากากอนามัย และตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ส่วนประชาชนทั่วไป แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปในสถานที่ผู้คนแออัด หรือพื้นที่ปิดอากาศไม่ถ่ายเท เช่น โรงพยาบาล, สถานที่ดูแลผู้สูงอายุหรือเด็กเล็ก เป็นต้น รวมถึงขนส่งสาธารณะที่มีผู้โดยสารหนาแน่น เช่น รถไฟฟ้า, รถเมล์, ประชาชนทั่วไปที่ไม่มีอาการป่วยไม่ต้องตรวจ ATK แล้ว
“อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องเน้นย้ำกับทุกคน คือ ในระยะที่ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ยังมีมาตรการที่สำคัญ คือ การฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงสูงคือ ผู้สูงอายุที่เหลืออีก 1.9 ล้านคน ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มที่เสี่ยงสูงสุดในเวลานี้ เพราะว่าไม่เคยได้วัคซีนแม้แต่เข็มเดียว และมักมีสุขภาพที่ไม่แข็งแรง ดังนั้น ถ้าติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตได้มากกว่ากลุ่มอื่น รวมทั้งต้องเร่งรัดฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ให้ครอบคลุมมากที่สุด โดยเน้นมาตรการทางสังคมที่สมดุลกับชีวิตวิถีใหม่ สวมหน้ากากอนามัยในสถานที่เสี่ยง, ล้างมือ, เว้นระยะห่าง, การจัดการสภาวะแวดล้อมที่เสี่ยงให้มีการระบายอากาศที่ดี, และส่งเสริมมาตรการการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อย้ำตรวจ ATK เมื่อมีอาการป่วย พร้อมรักษารวดเร็วด้วยยาที่มีประสิทธิผล” นพ.ธเรศ กล่าว
ทั้งนี้ขอให้ประชาชนมีความตระหนักในการป้องกันตนเอง และผู้ใกล้ชิดในครอบครัวที่เป็นผู้สูงอายุอยู่ตลอดเวลา เพราะโควิดไม่ได้หายไปจากประเทศไทย รวมถึงผู้สูงอายุยังไม่ปลอดภัย หากไม่ได้รับวัคซีนครบตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ