“ชลประทาน” เร่งระบายน้ำ “เขื่อนเจ้าพระยา” เตือน 11 จังหวัดเตรียมรับมือ

“กรมชลประทาน” เร่งเดินเครื่องระบายน้ำ “เขื่อนเจ้าพระยา” ตลอด 24 ชั่วโมง  หลังฝนตกต่อเนื่องทำปริมาณน้ำในเขื่อนสูงขึ้น เตือน 11 จังหวัดท้ายเขื่อนเตรียมพร้อมรับมือ


นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังค่อนข้างแรง ประกอบกับอิทธิพลของ “พายุโนรู” ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนก.ย. ที่ผ่านมา ทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากกระจายตัวทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ส่งผลให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวมทั้งสิ้น 50 จังหวัด เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 20 จังหวัด ยังคงเหลือจังหวัดที่ประสบอุทกภัยอยู่อีก 30 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา ลำปาง พิจิตร สุโขทัย ตาก เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร อุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ สุรินทร์ ชลบุรี ปราจีนบุรี ลพบุรี สระบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี สุพรรณบุรี และนครปฐม

ทั้งนี้กรมชลฯ ได้เข้าไปติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เร่งเดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อผลักดันน้ำออกจากพื้นที่ อาทิ  ที่จังหวัดเชียงใหม่ ระดับแม่น้ำปิงเริ่มเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนบริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำ รวมถึงบริเวณถนนช้างคลาน ถนนเจริญประเทศ หมู่บ้านป่าพร้าวนอก หมู่บ้านเวียงทอง โดยกรมชลฯ ได้ทำการเปิดประตูระบายน้ำป่าแดด ประตูระบายน้ำดอยน้อย ประตูระบายน้ำวังปาน และประตูระบายน้ำแม่สอย พ้นน้ำทุกบาน เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่เศรษฐกิจตัวเมืองเชียงใหม่โดยเร็ว

ด้านสถานการณ์น้ำในลำน้ำชี-มูล อาทิ จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่น้ำท่วม 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ชุมแพ และ อ.ภูผาม่าน กรมชลฯ ได้บริหารจัดการน้ำในแม่น้ำชี โดยการยกบานระบายน้ำที่เขื่อนชนบทและเขื่อนมหาสารคามขึ้นทุกบาน รวมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมประจำจุดเสี่ยงอีกจำนวน 6 จุด พร้อมเดินเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ประตูระบายน้ำ D8 (ห้วยพระคือ) จำนวน 22 เครื่อง ที่ประตูระบายน้ำห้วยใหญ่ จำนวน 6 เครื่อง และที่ประตูระบายน้ำคลองระบาย D.9 อีกจำนวน 2 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำให้เร็วยิ่งขึ้น

ขณะที่จังหวัดร้อยเอ็ด มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 13 อำเภอ กรมชลฯ ได้ทำการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 30 เครื่อง บริเวณท้ายเขื่อนร้อยเอ็ด และติดตั้งผลักดันน้ำอีกจำนวน 10 เครื่อง บริเวณใต้สะพานค้อเหนือนางาม อ.เสลภูมิ รวมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำอีก 5 เครื่อง ที่ท้ายประตูระบายน้ำห้วยดางเดียว อ.ทุ่งเขาหลวง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่อง ที่ ต.เทอดไทย อ.ทุ่งเขาหลวง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 6 เครื่อง ที่ ต.เมืองบัว อ.เกษตรวิสัย เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่

สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 17 อำเภอ กรมชลฯ ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่บริเวณอำเภอพิบูลมังสาหาร  จำนวน 130 เครื่อง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบไฮโดรโฟล์ที่บริเวณหน้าแก่งสะพือ 3 เครื่อง และหาดทรายแก้วอีกจำนวน 8 เครื่อง ส่วนที่บริเวณอำเภอโขงเจียม ได้ทำการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 56 เครื่อง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบไฮโดรโฟล์ อีก 4 เครื่อง เร่งระบายน้ำจากแม่น้ำมูล ลงสู่แม่น้ำโขง เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยในตัว อ.เมืองอุบลราชธานี และ อ.วารินชำราบ

ส่วนสถานการณ์น้ำในลุ่มเจ้าพระยา ที่จังหวัดอยุธยา ปัจจุบันมีพื้นที่น้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรลุ่มต่ำ รวม 10 อำเภอ ได้แก่ อ.บางบาล อ.เสนา อ.ผักไห่ อ.วังน้อย อ.นครหลวง อ.อุทัย อ.ท่าเรือ อ.บางปะอิน อ.พระนครศรีอยุธยา และ อ.บางไทร โดยกรมชลฯ ได้ทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 11 จังหวัด ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา

ขณะเดียวกัน ได้เข้าติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ในเขตพื้นที่โครงการที่รับผิดชอบ อาทิ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามหาราช ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 8 เครื่อง เร่งสูบจากคลองระบายใหญ่มหาราช 3 ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ที่ประตูระบายน้ำบางกุ้ง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 5 เครื่อง เครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 3 เครื่อง และรถสูบน้ำเคลื่อนที่ชนิดไฟฟ้า 5 คัน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 15 เครื่อง บริเวณแม่น้ำน้อย ที่ประตูระบายน้ำกุฎี 3 เครื่อง ประตูระบายน้ำวัดใบบัว 3 เครื่อง ประตูระบายน้ำคลองตานึ่ง 1 เครื่อง ประตูระบายน้ำเจ้าเจ็ด 2 เครื่อง บริเวณคลองตาแย้ม 2 เครื่อง บ้านใหญ่ 1 เครื่อง ประตูระบายน้ำลาดชะโด 1 เครื่อง และ ประตูระบายน้ำบางกุ้ง 1 เครื่อง เร่งระบายน้ำในพื้นที่ลงสู่อ่าวไทยให้เร็วที่สุด

ในส่วนของพื้นที่จังหวัดปทุมธานี มีพื้นที่น้ำท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ธัญบุรี และ อ.ลำลูกกา ได้เร่งระบายน้ำลงพื้นที่ตอนล่าง ออกทางสถานีสูบน้ำเสาวภาผ่องศรี และ สถานีสูบน้ำสมบูรณ์ ไปลงแม่น้ำนครนายก รวมถึงระบายน้ำลงสู่พื้นที่ด้านล่าง ผ่านคลองซอยที่ 14-17 พร้อมทั้งเดินเครื่องสูบน้ำที่ปากคลองรังสิตฯ จำนวน 20 เครื่อง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ เพื่อรองรับปริมาณน้ำจากทางตอนบน

ทั้งนี้ กรมชลฯ ได้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนเดือนสุดท้ายให้ได้มากที่สุด ที่สำคัญยังคงเดินหน้าให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ไปจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หรือจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน

Back to top button