จับตา “ส่งออก” ปีนี้โตเกินเป้า หลัง 8 เดือนขยายตัว 11%

“สรท.” มองส่งออกปีนี้มีลุ้นโตแตะ 8% จากเป้า 6-8% หลัง 8 เดือนโตแล้ว 11% เหตุมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดี


นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า ภาวะการส่งออกในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ส.ค.65) ขยายตัวได้กว่า 11% ส่วนช่วงอีก 4 เดือนที่เหลือ (ก.ย.-ธ.ค.65) ถึงแม้ว่าการส่งออกจะไม่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเลย การส่งออกของปีนี้ก็ยังขยายตัวได้ถึง 7% แต่หากช่วง 4 เดือนที่เหลือสามารถส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 24,300 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้การส่งออกในปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8% จากเป้าหมายที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ที่ 6-8% ซึ่งในครั้งต่อไปน่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

“ตัวเลข 8% แม้จะมีหลายปัจจัยลบมารุมเร้า แต่ด้วยเศรษฐกิจพื้นฐานที่ดีทำให้เชื่อว่าจะสามารถผ่านอุปสรรคต่างๆ ไปได้” นายชัยชาญ กล่าว

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่

1.สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อของประเทศคู่ค้าสำคัญทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะประเทศสหรัฐฯ ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ดำเนินนโยบายทางการเงินแบบเข้มงวดด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วเพื่อควบคุมเงินเฟ้อส่งผลให้

1.1.เศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกามีความเสี่ยงต่อการชะลอตัวอย่างมีนัยยะสำคัญ ก่อให้เกิดความกังวลต่อนักลงทุนและคู่ค้ากับสหรัฐฯ

1.2 อัตราผลตอบแทนในการถือเงินดอลลาร์สูงขึ้น อุปสงค์เงินดอลลาร์มากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์จึงเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าอย่างรวดเร็ว และส่งผลต่อเนื่องถึงสกุลเงินอื่นๆ ทั่วโลก (Currency baskets) ให้ปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในทางกลับกันไทยอาจเสียเปรียบจากการส่งออกไปยังตลาดอื่นที่มีค่าเงินอ่อนค่ากว่า โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคาของไทยลดลง

2.ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูงจากสถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยังคงยืดเยื้อ ปริมาณน้ำมันคงคลังของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง ประกอบการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้า (FT) ภายในประเทศส่งผลต่อเนื่องถึงต้นทุนภาคการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและต้นทุนในการดำรงชีวิตภาคครัวเรือน ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก

3.ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) , เหล็ก, ธัญพืช เช่น ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ข้าวโพด เมล็ดทานตะวัน แป้งสาลี อาหารสัตว์ ปุ๋ย เป็นต้น

โดย สรท.มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ได้แก่

1.ควรเร่งส่งออกในช่วงค่าเงินบาทอ่อน แต่ต้องติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมถึงพิจารณาการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงให้เหมาะสม

2.ด้านพลังงานและต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น

2.1 ขอให้ภาครัฐช่วยรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศให้อยู่ระดับที่เหมะสม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคมากเกินไป โดยอยากให้ขยายมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 35 บาทไปจนถึงสิ้นปี

2.2 ขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาควบคุมหรือปรับขึ้นค่าไฟฟ้า (FT) ทั้งในภาคการผลิตและภาคครัวเรือน แบบค่อยเป็นค่อยไป

3.ขอให้เร่งแก้ไขปัญหากฎระเบียบด้านการถ่ายลำ (Transshipment) เพื่อดึงดูดเรือแม่เข้ามาให้บริการแบบ Direct Call ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการรับส่งสินค้า รวมถึงสามารถบริหารจัดการต้นทุนค่าระวางเรือให้อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในต่างประเทศได้

“สองปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การส่งออกปีนี้ขยายตัวได้เกิน 8% คือ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีน รวมถึงการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ในวันที่ 16 ต.ค.65 จะมีนโยบายทางเศรษฐกิจอข่างไร กับเรื่องปัญหาขาดแคลนชิปคลี่คลาย” นายชัยชาญ กล่าว

สำหรับกรณีเงินบาทอ่อนค่านั้นคงจะไม่ช่วยให้ไทยได้เปรียบเรื่องการแข่งขัน เพราะค่าเงินในภูมิภาคปรับตัวอ่อนค่าเช่นกัน โดยคาดว่าเงินบาทในช่วงไตรมาส 4 จะอยู่ที่ระดับ 37.0-38.50 บาท/เหรียญสหรัฐ แต่มีความเป็นไปได้ที่เงินบาทจะปรับตัวอ่อนค่าไปมากกว่านี้ ขณะที่การส่งออกในหมวดอาหารจะได้รับโอกาสจากวิกฤตอาหารโลก

ขณะเดียวกัน นายสุภาพ สุวรรณพรวิมล รองประธาน สรท. กล่าวว่า ทุกครั้งที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% จะส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าราว 1 บาท/เหรียญสหรัฐ เนื่องจากดอลลาร์แข็งค่า ดังนั้นในช่วงปลายปีนี้หากเฟดมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกเชื่อว่าจะมีโอกาสได้เห็นเงินบาทอ่อนค่าแตะ 39 บาท/เหรียญสหรัฐ

Back to top button