“ส.อ.ท.” ชู 3 ปัจจัยขับเคลื่อน “อุตสาหกรรมไทย” พ้นวิกฤติ
“ส.อ.ท.” ชี้ภาครัฐ-เอกชน ต้องพลิกเกม “ภาคอุตสาหกรรม” ชู 3 ปัจจัย พ้นวิกฤตไทยรอด รองรับธุรกิจอนาคต
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอน มีความผันผวนสูงซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม ซึ่งอุตสาหกรรมหลายอุตสาหกรรมก็ถูกดิสรัปชั่น
ขณะที่ภายในประเทศก็เจอปัญหาการขาดแรงงาน เพราะสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ขณะนี้อัตราการเกิดลดลงถึง 3 แสนคน ทำให้จุดที่เคยได้เปรียบในอดีตโดยเฉพาะแรงงานปัจจุบันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว เพราะค่าแรงของไทยไม่ได้มีราคาถูกอีกต่อไป ทำให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยโตเพียง 3% เท่านั้น
โดยปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญปัญหา Perfect Storm หรือวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ทำให้จำเป็นต้องปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทย ยิ่งมาเจอปัญหาเงินเฟ้อ ค่าพลังงานที่แพง สงครามรัสเซียและยูเครน ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทย ต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าแรงที่ปรับขึ้นเฉลี่ยทั้งประเทศ 5% เงินบาทอ่อนค่าที่แม้จะดีต่อการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่ในภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการนำเข้า โดยเฉพาะค่าพลังงานที่ต้องนำเข้าถึงวันละ 9 แสนบาร์เรล ซึ่งแม้จะแพงเท่าใดแต่ก็ยังต้องใช้เท่าเดิม
“ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น ทั้งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ยิ่งมาเจอกับการปรับขึ้นค่าเอฟที 4.7 สตางค์ ขณะที่คู่แข่งอย่างเวียดนามได้ประกาศสิ้นปีนี้ยืนค่าเอฟทีที่ 2.88 สตางค์ ทำให้อุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน ผลิตแบบเดียวกัน แต่แค่เปิดเครื่องผลิตก็แพ้แล้ว เพราะต้นทุนต่างกัน ไม่ต้องพูดถึงการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เพราะแค่เห็นค่าไฟนักลงทุนก็เป็นลมแล้ว สิ่งนี้จึงเป็นปัญหาหนักของภาคอุตสาหกรรมไทย เนื่องจากโครงสร้างการผลิตของไทยที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานในการผลิตจากต่างชาติ แต่หากเทียบกับเวียดนามที่นำเข้าเหมือนกัน และเป็นคู่แข่งโดยตรงกับไทยก็จะพบว่าต้นทุนของเวียดนามถูกกว่าไทยเกือบครึ่ง แต่ไม่ใช่ว่าไม่สู้กับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาสู้กับทุกเหตุการณ์อยู่แล้ว นับตั้งแต่เกิดโควิด-19 ก็ปรับตัวมาตลอด ในหลายอุตสาหกรรมก็ถูกกระทบรุนแรง และในบางอุตสาหกรรมก็ถือเป็นการใช้วิกฤตให้เกิดโอกาส” นายเกรียงไกร กล่าว
อย่างไรก็ตาม มีการประเมินปัจจัยแวดล้อมเพื่อเปลี่ยนเกมในอนาคต โดยปัจจุบันได้แยกอุตสาหกรรมออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.อุตสาหกรรม 45 กลุ่ม 11 คลัสเตอร์ ที่เป็นอุตสาหกรรมดั่งเดิม ซึ่งกำลังถูกดิสรัปชั่น ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการปรับตัวให้เข้มแข็งขึ้น แม้ไม่ได้หมายความว่าจะรอดก็ตาม
2.อุตสาหกรรมใหม่ โดยอุตสาหกรรมกลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่กำลังถูกดิสรัปชั่นเร็วๆ นี้ แต่ก็มีความภูมิใจเพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งออกอันดับ 1 ของไทยมาตลอด ซึ่งภาครัฐและเอกชนต้องจับมือกันเพื่อพลิกเกมในอนาคตซึ่งต้องรอด แต่จะรุ่งหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับตัวเอง รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของไทยตกอันดับลงไปที่ 33 จากอันดับเดิม 28 แต่หากไปในทิศทางที่วางแผนไว้ เชื่อว่าจะไปรอดและรุ่งกว่าเดิม รวมถึงความสามารถในการแข่งขันจะเพิ่มขึ้นมาได้แน่นอน โดยการเปลี่ยนเกมประเทศไทยผ่านภาคอุตสาหกรรม เน้น 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมใหม่ (เอสเคิร์ป) 2.บีซีจี อาศัยความหลากหลายทางชีวิตภาพ ที่นำวัตถุดิบในแต่ละอุตสาหกรรมพัฒนาต่อยอดเพิ่มเติม และ 3.ความยั่งยืน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ไทยเป็นประเทศส่งออกเกือบ 60% ของจีดีพี ทำให้ต้องทำตามกฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นใหม่ในการส่งออกของประเทศต่างๆ ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้ถือเป็นความแข็งแกร่งที่ไทยได้ประโยชน์
อย่างไรก็ตาม หากมีรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการคือ ความต่อเนื่อง หมายถึงไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็ตามอะไรที่ดีอยู่แล้วก็อยากให้ทำต่อไป ไม่ควรทำเริ่มต้นที่ศูนย์ใหม่อีกครั้ง โดยอยากเห็นภาครัฐและเอกชนจับมือทำงานร่วมกัน เหมือนที่ประเทศที่เป็นโมเดลและประสบความสำเร็จได้ โดยจะต้องทำหน้าที่ของตัวเองไป แต่ต้องสนับสนุนซึ่งกันและกัน รวมถึงสิ่งที่พูดถึงมาตลอดคือ กฎหมายที่มีความล้าสมัย อยากให้ปรับแก้เพื่อทันสมัยมากขึ้น ปลดล็อกให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น
รวมถึงออกแบบกฎหมายที่รองรับธุรกิจในอนาคตมากขึ้น เพราะบางธุรกิจ คนไทยเก่งขึ้นมาก แต่ท้ายสุดไม่สามารถทำธุรกิจในไทยได้ ต้องออกไปทำธุรกิจต่างประเทศ โดยรับรองว่าหากมีการปลดล็อกกฎหมายมากเท่าใด ธุรกิจก็ยิ่งรุ่งมากเท่านั้น