“ดาวฟิวเจอร์” ทะยานต่อ 400 จุด นลท.คลายกังวลเฟด-ดอลลาร์อ่อนค่า
“ดาวฟิวเจอร์” ดีดตัวขึ้นต่อเนื่องจากวานนี้ ทะยานต่อ 400 จุด ตามตลาดหุ้นวอลล์สตรีท หลังนักลุงทุนคลายความกังวล “เฟด” ใช้ยาแรงสกัดเงินเฟ้อขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เดือน พ.ย. นี้ คาดว่าการซื้อขายในวันนี้ยังคงได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ทะยานขึ้นกว่า 400 จุด บ่งชี้ว่าตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะดีดตัวขึ้นต่อเนื่องจากวานนี้
ณ เวลา 19:19 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์บวก 422 จุด หรือ 1.43% สู่ระดับ 29,958 จุด
โดยดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 700 จุดวานนี้ ขณะที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ คาดว่าการซื้อขายในวันนี้ยังคงได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ หลังจากที่นักลงทุนกังวลก่อนหน้านี้ว่า การแข็งค่าของดอลลาร์จะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากต่างประเทศ
นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรรัฐบาลที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ ซึ่งหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้น จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง
ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินกู้จำนองเพิ่มมากขึ้น และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ทำให้บริษัทลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
ขณะเดียวกัน นักลงทุนลดคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนพ.ย. หลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 58.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.75-4.00% ในการประชุมวันที่ 1-2 พ.ย. หลังจากที่ก่อนหน้านี้ให้น้ำหนักสูงถึง 68.1%
นอกจากนี้ นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักสู่ระดับ 41.5% ต่อการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมดังกล่าว
โดยนักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี
สำหรับสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 50.9 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนพ.ค.63 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 52.3 จากระดับ 52.8 ในเดือนส.ค.
ทั้งนี้ดัชนีภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากการหดตัวของคำสั่งซื้อใหม่ ซึ่งเป็นการหดตัวลงเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ ขณะที่การจ้างงานหดตัวเป็นครั้งที่ 4