“สภาผู้บริโภค” ยืนหนังสือกสทช. เคาะดีล TRUE-DTAC ยึดหลักนิติธรรม ไม่ใช่นิติทุน

“สภาผู้บริโภค” ยืนหนังสือกสทช. เคาะดีล TRUE-DTAC ยึดหลักนิติธรรม ไม่ใช่นิติทุน พร้อมยึดมั่นผลประโยชน์ของประชาชนสูงสุด ก่อนพิจารณาดีลในวันที่ 12 ตุลาคมนี้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(10 ต.ค.65) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (สำนักงาน กสทช.) น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ยื่นหนังสือถึงศาสตราจารย์คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) เพื่อขอให้ใช้หลักอุดมคติและยืนหยัดข้างผู้บริโภคและประชาชน ในการพิจารณาควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC โดยมีนางพิรงรอง รามสูตร กรรมการ กสทช. และ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการ ประธาน กสทช. เป็นผู้รับหนังสือ

โดย น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ในนามของสภาองค์กรของผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือเนื่องจากการควบรวมกิจการ เป็นประเด็นที่ผู้บริโภคกำลังจับตา เพราะเป็นดีลใหญ่และกระทบประโยชน์สาธารณะ โดยสภาองค์กรของผู้บริโภคมีการติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และที่ประชุม กสทช. จะมีการพิจารณาในประเด็นดังกล่าว ในวันที่ 12 ตุลาคมนี้ จึงมองว่าช่วงนี้เป็นจังหวะที่ดีเพราะเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ครบรอบวันสถาปณา กสทช. ครบ 11 ปี และวันพรุ่งนี้ (11 ตุลาคม) จะครบรอบ 25 ปีของการมีมาตรา 40 ตามรัฐธรรมนูญ 40 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อเกิดองค์กรอิสระอย่าง กสทช. ที่ต้องกำกับดูแลและจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเน้นการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม

“อยากให้ กสทช. ทำหน้าที่บนหลักนิติธรรม ไม่ใช่นิติเพื่อทุน รวมถึงยึดมั่นในผลประโยชน์ของประชาชนสูงสุด ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 60 และสำคัญที่สุดคือตามแผนแม่บทของ กสทช.” น.ส.สุภิญญา กล่าว

น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ได้นำแผนแม่บทของ กสทช. มามอบให้ด้วย เพื่อเป็นการทบทวน เนื่องจากเท่าที่ติดตามมา ไม่แน่ใจว่า กสทช. ได้ใช้แผนแม่บทเป็นหลักในการพิจารณาผลกระทบจากการควบรวมหรือไม่ เพราะในแผนแม่บทฉบับที่ 2 เขียนชัดเจนเรื่องการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม เกรงว่าถ้า กสทช. ไม่ได้อิงเรื่องนี้หากมีคดีไปศาลปกครองอาจมีปัญหาในเรื่องกระบวนการได้

น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า มีการรับฟังความคิดเห็นผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะลูกค้าดีแทคทั้ง 19 ล้านราย หรือไม่ เพราะที่ผ่านมายืนยันที่จะใช้งานบนเครือข่ายของดีแทค โดยไม่เลือกใช้งานผู้ให้บริการรายอื่น เช่น ทรู หรือเอไอเอส เป็นต้น ดังนั้น หากเกิดการควบรวมกิจการ ใครจะรับผิดชอบลูกค้าจำนวนดังกล่าว ด้วยความเป็นห่วงในฐานะอดีต กสทช.

“ขอให้ กสทช. มั่นใจในมติ ที่คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ เพราะไม่ว่าผลการพิจารณาจะออกมาในทิศทางใด คงมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภคพร้อมสนับสนุนในขั้นตอนของศาล และฟ้องร้องต่อศาลปกครองเช่นเดียวกัน หากมตินั้นเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนมากกว่าสาธารณะ” น.ส.สุภิญญา กล่าว

Back to top button