สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 10 ต.ค. 2565
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 10 ต.ค. 2565
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันจันทร์ (10 ต.ค.) ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ระดับต่ำสุดนับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และจากการที่รัฐบาลสหรัฐออกมาตรารควบคุมการส่งออกชิปให้กับจีน
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 29,202.88 จุด ลดลง 93.91 จุด หรือ -0.32%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,612.39 จุด ลดลง 27.27 จุด หรือ -0.75% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,542.10 จุด ลดลง 110.30 จุด หรือ -1.04%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงในวันจันทร์ (10 ต.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงระมัดระวังในการซื้อขายหุ้นก่อนการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ในสัปดาห์นี้ ขณะที่ความวิตกเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นซึ่งเกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนถ่วงตลาดลงด้วย
ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 390.12 จุด ลดลง 1.55 จุด หรือ -0.40%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,840.55 จุด ลดลง 26.39 จุด หรือ -0.45%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,272.94 จุด ลดลง 0.06 จุด หรือ -0.001% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,959.31 จุด ลดลง 31.78 จุด หรือ -0.45%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลดลงในวันจันทร์ (10 ต.ค.) เป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน โดยปรับตัวลงตามตลาดหุ้นทั่วโลก ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัสเซียและยูเครน ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอังกฤษที่พุ่งขึ้นถ่วงตลาดลงด้วย
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,959.31 จุด ลดลง 31.78 จุด หรือ -0.45%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันจันทร์ (10 ต.ค.) โดยตลาดถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งเศรษฐกิจโลกที่เริ่มส่งสัญญาณถดถอย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 1.51 ดอลลาร์ หรือ 1.6% ปิดที่ 91.13 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 1.73 ดอลลาร์ หรือ 1.8% ปิดที่ 96.19 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ในวันจันทร์ (10 ต.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลว่าตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่สูงกว่าคาดของสหรัฐจะผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังเป็นปัจจัยกดดันตลาดทองคำ
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 34.1 ดอลลาร์ หรือ 1.99% ปิดที่ 1,675.2 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 64 เซนต์ หรือ 3.16% ปิดที่ 19.615 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 22.1 ดอลลาร์ หรือ 2.41% ปิดที่ 895.8 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 23.40 ดอลลาร์ หรือ 1.1% ปิดที่ 2,167.90 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (10 ต.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 4 ในการประชุมเดือนพ.ย. หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่สูงกว่าคาด
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.31% แตะที่ระดับ 113.1450
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 145.67 เยน จากระดับ 145.34 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9994 ฟรังก์ จากระดับ 0.9949 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3758 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3725 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 0.9706 ดอลลาร์ จากระดับ 0.9737 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.1058 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1076 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6298 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6369 ดอลลาร์สหรัฐ
ตลาดหุ้นไต้หวันปิดทำการวานนี้ (10 ต.ค.) เนื่องในวันชาติ
ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ปิดทำการวานนี้ (10 ต.ค.) เนื่องในวันภาษาเกาหลี (Hangul Day)
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดทำการวานนี้ (10 ต.ค.) เนื่องในวันกีฬาแห่งชาติ (Sports Day)