“กนง.” ยันทยอยขึ้นดอกเบี้ย หวั่นกระทบเศรษฐกิจ มอง “เงินเฟ้อ” ไตรมาส 4 ชะลอลง
กนง. มองเงินเฟ้อช่วงไตรมาส 4/65 ทยอยปรับตัวลดลง พร้อมยืนยันปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้กระทบกับเศรษฐกิจ
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.คลัง ชี้แจงการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนก่อน และประมาณการ 12 เดือนข้างหน้า สูงกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน โดยระบุว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรมว.คลัง มีข้อตกลงร่วมกัน เมื่อวันที่ 16 พ.ย.64 กำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในช่วง 1-3% เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2565 รวมถึงระบุให้ กนง.มีจดหมายเปิดผนึกหากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา หรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า เคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายนั้น
โดยเมื่อวันที่ 5 ต.ค.65 กระทรวงพาณิชย์ ได้เผยแพร่ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ก.ย.65 อยู่ที่ 6.41% ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค.64 – ก.ย.65) อยู่ที่ 5.23% ซึ่งสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินในปัจจุบัน ประกอบกับ กนง.ได้ประเมินไว้ในการประชุมวันที่ 28 ก.ย.65 ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า (ไตรมาส 4/65 ถึง ไตรมาส 3/66) จะอยู่ที่ 3.9% ซึ่งสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมาย ตามแรงกดดันด้านอุปทาน โดยเฉพาะราคาพลังงานที่แม้จะทยอยลดลงตามราคาในตลาดโลก แต่ยังอยู่ในระดับสูง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน จะอยู่ที่ 12.4% และหมวดอาหารสดที่ 1.7%
ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ 2.9% โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาที่ 0.46% เนื่องจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นที่ 3.8% ในปี 2566 จะเอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถส่งผ่านต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงในช่วงก่อนหน้าไปยังราคาสินค้าได้มากขึ้น
สำหรับระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายนั้น กนง.ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในระดับสูงสุดไตรมาสที่ 3/65 และมีแนวโน้มทยอยลดลงตั้งแต่ไตรมาส 4/65 ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายตั้งแต่ช่วงกลางปี 66 ตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานที่มีแนวโน้มลดลงจาก
1) ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง จากอุปสงค์ที่อาจลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และอุปทานน้ำมันโลกที่อาจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐ และ 2) ราคาอาหารสดที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นดังเช่นในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากอุปทานเนื้อสุกรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และต้นทุนปุ๋ย และอาหารสัตว์มีแนวโน้มลดลง จากการคลี่คลายของปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลก และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้ แนวโน้มต้นทุนที่ลดลงจะชวยลดแรงกดดันที่ผู้ประกอบการจะส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าและบริการ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะไม่เร่งขึ้นต่อเนื่องในระยะถัดไป
นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางที่สะท้อนข้อมูลตลาดการเงิน ยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย แม้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะสั้นจะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ตามการปรับขึ้นของต้นทุนการผลิตสินค้าและราคาสินค้าบางประเภท สะท้อนความเชื่อมั่นว่านโยบายการเงินจะสามารถรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลางได้ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่สาธารณชนมองว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นต่อเนื่อง จนนำไปสู่การปรับเพิ่มราคาอย่างเป็นระลอกได้ (second-round effect)
อย่างไรก็ดี กนง. จะติดตามพัฒนาการของปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไป อาทิ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความผันผวนของราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์โลก ปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการไปยังอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เพื่อให้มั่นใจว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลาง ยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน
ทั้งนี้ ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ทำให้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษมีความจำเป็นลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง มาจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม กนง. จึงได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้กลับเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว (policy normalization) และให้สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังสามารถลดความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้ออาจเพิ่มสูงขึ้นจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจมากกว่าที่ประเมินไว้
ส่วนในกรณีที่แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ กนง. พร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป
นอกจากนี้ กนง. เห็นว่าควรดำเนินมาตรการเฉพาะจุด และส่งเสริมการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง โดยมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่มีส่วนช่วยกระจายสภาพคล่องและช่วยลดภาระหนี้สำหรับกลุ่มเปราะบาง รวมถึงการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว จะช่วยแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน เสริมสร้างเสถียรภาพระบบการเงิน และไม่เป็นปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ กนง. จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด และพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการดูแลเสถียรภาพด้านราคาและเสถียรภาพระบบการเงิน
โดย กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.คลัง อีกครั้งใน 6 เดือนข้างหน้า หาก ณ เวลานั้นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา หรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้ายังคงเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย