“ดอลลาร์” แข็งค่า ขานรับแนวโน้ม “ดอกเบี้ย” ขาขึ้น
“ดอลลาร์” แข็งค่า หลังเปิดข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ บ่งชี้ถึงภาวะเงินเฟ้อที่ระดับสูง และแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (14 ต.ค.65) โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังคงบ่งชี้ถึงภาวะเงินเฟ้อที่ระดับสูง และแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงต่อไป
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.84% แตะที่ระดับ 113.3090
โดยดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 148.67 เยน จากระดับ 147.17 เยน, แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 1.0051 ฟรังก์ จากระดับ 0.9989 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.3884 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3734 ดอลลาร์แคนาดา
ขณะที่ยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.9729 ดอลลาร์ จากระดับ 0.9791 ดอลลาร์, เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.1169 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1321 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าแตะที่ระดับ 0.6204 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6304 ดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนเงินปอนด์ร่วงลงอย่างรุนแรงหลังนางลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษสั่งปลดนายควาซี ควาร์เต็ง รมว.คลังอังกฤษออกจากตำแหน่ง และยกเลิกแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจบางส่วนซึ่งทำให้ตลาดการเงินปั่นป่วนในช่วงที่ผ่านมา
ดอลลาร์ยังคงแข็งค่าเมื่อเทียบกับเยน โดยแตะระดับสูงสุดครั้งใหม่ในรอบ 32 ปีที่ระดับ 148.86 เยน
ทั้งนี้ ดอลลาร์ได้แรงหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ซึ่งจะสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงต่อไป
โดยผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 59.8 ในเดือนต.ค. จากระดับ 58.6 ในเดือนก.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 59.0
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 5.1% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า โดยสูงกว่าระดับ 4.7% ที่มีการสำรวจในเดือนก.ย. ส่วนในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 2.9% โดยสูงกว่าระดับ 2.7% ที่มีการสำรวจในเดือนก.ย.
ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกทรงตัวในเดือนก.ย. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอาจเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนส.ค. ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนก.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนส.ค.