“กอนช.“ เตือน “ภาคใต้” ระวังน้ำป่าไหลหลาก 18-22 ต.ค.นี้

“กอนช.” เตือนประชาชนภาคใต้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก หลังยังมีฝนตกต่อเนื่องและตกหนักบางพื้นที่ ช่วง 18-22 ต.ค.นี้


กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ออกประกาศ ฉบับที่ 5 1/2565 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ว่ากองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 17-18 ตุลาคม 2565 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีน ได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นกับมีลมแรง และมีฝนบางแห่ง ในขณะที่ร่องมรสุมยังคงพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนัก ถึงหนักมากบางแห่ง

โดย กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน) ต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก บริเวณภาคใต้ ในช่วงวันที่ 18-22 ตุลาคม 2565 ได้แก่

จังหวัดชุมพร (อำเภอหลังสวน ละแม สวี เมืองชุมพร และพะโต๊ะ)

จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง กระบุรี ละอุ่น กะเปอร์ และสุขสำราญ)

จังหวัดพังงา (อำเภอเมืองพังงา กะปง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า ทับปุด และตะกั่วทุ่ง)

จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง)

จังหวัดกระบี่ (อำเภออ่าวลึก)

จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอพระแสง ท่าฉาง คีรีรัฐนิคม ท่าชนะ บ้านนาสาร ไชยา พนม พุนพิน เกาะสมุย และเกาะพะงัน)

จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ท่าศาลา และปากพนัง)

และจังหวัดสตูล (อำเภอเมืองสตูล)

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

1.ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ

2.ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณพื้นที่เสี่ยง

3.เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที

4.ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

Back to top button