เอกสารหลุด! ผลศึกษา SCF ดีลควบ TRUE-DTAC หวั่นเกิด “ผูกขาด-เหลื่อมล้ำ”

เลขาธิการสภาของผู้บริโภค เผยพบเอกสารหลุดผลการศึกษาบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศ SCF Associates Ltd. ที่ กสทช.จ้างให้ศึกษาดีลควบ TRUE-DTAC เทียบกับโมเดลในต่างประเทศ พบหลายข้อน่าห่วงโดยเฉพาะการผูกขาดของผู้แข่งขันน้อยราย และยังทำให้คนชายขอบได้รับบริการไม่ทั่วถึง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาของผู้บริโภค หรือ สอบ. ได้โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว ระบุว่า ด่วนเอกสารหลุด รายงานการศึกษาที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศ SCF Associates Ltd. ด้วยงบประมาณสิบล้านบาท เพื่อศึกษาผลกระทบของการควบรวม กรณีควบรวม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ที่มีต่อสังคมไทยทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม โอกาสการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ และสิทธิการเข้าถึงบริการของสังคม ทำให้เห็นปัญหาที่สังคมไทยจะต้องเผชิญหน้า หาก กสทช. มีมติอนุญาตให้เกิดการควบรวม ที่ทำให้สามค่ายมือถือยักษ์ เหลือสองค่าย ซึ่งสรุปโดยสาระสำคัญมีดังนี้

1.พื้นที่คนที่มีรายได้น้อย พื้นที่ห่างไกลที่ไม่สร้างผลกำไรจะไม่มีโครงข่าย หรือบริการใหม่ๆ เข้าไปถึง ซึ่งแปลว่า “คนจน คนชายขอบจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” โดนละเมิดสิทธิ์การเข้าถึงบริการคลื่นความถี่ที่ประชาชนเป็นเจ้าของ

2.ในขณะที่กลุ่มรายได้สูง กลุ่มชุมชนเมืองที่จะสร้างกำไรสูงสุดให้สองค่ายที่เหลือในตลาด จะได้รับบริการโดยเฉพาะระบบ 5G อย่างเต็มประสิทธิภาพ กลุ่มคนรายได้ปานกลางและคนจนเมืองต้องจ่ายค่าบริการที่สูงเกินความจำเป็น กับเทคโนโลยีทันสมัย

3.การควบรวมที่มีเหลือสองค่าย หรือ duopoly จะไม่เกิดการแข่งขัน และกลายเป็นระบบร่วมมือกัน หรือ “ฮั้ว” ไปในที่สุด ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนในโครงข่ายสำหรับการให้บริการใหม่ๆ และ ลดการแข่งขันกันเอง

4.การเข้าสู่ระบบสองค่ายหรือ duopoly จะทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศล้าหลัง ตามหลังประเทศฟิลิปปินส์ ที่ขณะนี้รั้งท้ายในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน

และ 5.จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปีถึงจะสามารถพลิกฟื้นระบบตลาดสองค่ายนี้ กลับเป็นตลาดที่มีการแข่งขัน หรือเกิดคู่แข่งหน้าใหม่ในตลาด

อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ บอร์ดกสทช.เคยระบุว่า ผลการศึกษาของ SCF มีความน่าสนใจมาก เพราะเป็นการเปรียบเทียบผลดีและเสียในการควบรวมกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในต่างประเทศ ซึ่งมีโมเดลธุรกิจและการกำกับดูแลที่น่าสนใจ โดยผลศึกษาฉบับสมบูรณ์มาถึงที่สำนักงาน กสทช.เมื่อวันศุกร์ที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้การประชุมบอร์ด กสทช.นัดพิเศษวันที่ 20 ตุลาคมนี้ จะมีการพิจารณาการตัดสินการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC อย่างแน่นอน

Back to top button