“กสม.” กังวลดีล “TRUE-DTAC” ผูกขาด! แนะกสทช. ยึดประโยชน์ประชาชน

กสม. กังวลดีลควบ “TRUE-DTAC” ผูกขาด แนะ “กสทช.” ยึดประโยชน์ประชาชน และประโยชน์สาธารณะ พร้อมขอให้เปิดผลการศึกษาของที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ต.ค. 65) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์กรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะพิจารณาว่าจะอนุญาตให้มีการควบรวมกิจการหรือไม่ในวันที่ 20 ต.ค.นี้ว่า  กสม.ได้ติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการควบรวมกิจการโทรคมนาคมของ TRUE และ DTAC มาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเครือข่ายสลัม 4 ภาคและผู้แทนสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกรณีดังกล่าวต่อ กสม. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565

โดย กสม. เห็นว่าบริการโทรคมนาคมเป็นบริการจำเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตของประชาชนผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน การควบรวมกิจการของบริษัทโทรคมนาคมทั้ง 2 แห่ง ซึ่งเป็นกิจการประเภทเดียวกัน อาจเข้าข่ายเป็นการผูกขาดและมีอำนาจเหนือตลาด ทำให้ผู้บริโภคขาดทางเลือกหรือมีทางเลือกน้อยลง โดยเฉพาะผู้บริโภคกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มชายขอบ ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีอุปสรรคในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคม (สัญญาณอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่) และมีรายได้น้อยอยู่แล้ว อาจต้องเสียค่าบริการในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชน

ด้วยเหตุดังกล่าว กสม. จึงมีข้อเสนอแนะต่อการพิจารณาควบรวมกิจการบริษัทโทรคมนาคมทั้ง 2 แห่ง ดังนี้

  1. ขอให้ยึดประโยชน์สูงสุดของประชาชน และประโยชน์สาธารณะ ตามมาตรา 60 วรรคสอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
  2. ขอให้เปิดเผยผลการศึกษาของที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศ ที่สำนักงาน กสทช. จัดจ้างให้มีการศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคต่อสาธารณะ และนำผลการศึกษามาประกอบการพิจารณาด้วย
  3. ขอให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการควบรวมกิจการดังกล่าวอย่างกว้างขวาง รวมทั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ เพื่อให้การประกอบธุรกิจด้านกิจการโทรคมนาคม เป็นไปอย่างมีธรรมาภิบาล สามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรี ไม่ผูกขาดอำนาจเหนือตลาด เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภค อันจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนต่อไป

Back to top button