PCC เทรดวันแรก! ลุ้นวิ่งทะลุ 4 บ. ชูพื้นฐานแกร่ง กำไรปี 65-68 โตเฉลี่ย 21%

PCC ลงสังเวียนเทรดวันแรก! ลุ้นวิ่งเหนือไอพีโอ 4 บ. โบรกชี้กำไรปี 65-68 โตเฉลี่ย 21.4% จากโครงการในอนาคตที่การไฟฟ้ามีแผนจะปรับโครงข่ายระบบไฟฟ้าทั่วประเทศ ชูพื้นฐานแข็งแกร่งและยั่งยืนอนาคต โดยให้ราคาเป้าหมาย 4.77 บ.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท พรีไซซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PCC เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มทรัพยากร หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “PCC” วันนี้ (21 ตุลาคม 2565) เป็นวันแรก

สำหรับ PCC ดำเนินธุรกิจโดยการถือหุ้นบริษัทอื่น (holding company) ประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลัก คือ 1) ธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ในระบบจ่ายไฟฟ้า 2) ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูงและสายส่งไฟฟ้าแรงสูง รวมถึงผลิตและติดตั้งระบบควบคุม และ 3) ลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

ทั้งนี้ มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วหลัง IPO 1,226.62 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม  919.62 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายต่อประชาชนเป็นครั้งแรก 307 ล้านหุ้น โดยเสนอต่อบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ผู้มีอุปการคุณ บุคคลที่มีความสัมพันธ์ และกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท ในระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม 2565 ในราคาหุ้นละ 4.00 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 1,228 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 4,906.48 ล้านบาท

โดยมีธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญ

ด้าน นายกิตติ สัมฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PCC เปิดเผยว่า มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจเกือบ 40 ปี และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาองค์กรตามแนวทางการเติบโตอย่างยั่งยืน การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จึงนับเป็นก้าวสำคัญของบริษัทที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจ ซึ่งบริษัทเล็งเห็นโอกาสในการขยายฐานลูกค้าใหม่ด้วยระบบตลาดแบบดิจิทัลและแนวทาง Total Customer Solutions

โดยบริษัทมีแผนจะนำเงินจากการระดมทุนไปใช้ในการก่อสร้างศูนย์การขายและการตลาด ชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน และมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัท หลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและหลังหักสำรองตามกฎหมายของแต่ละปี

ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไปจากอัตราที่กำหนดไว้ โดยขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงาน สถานฐานะการเงิน แผนขยายงานในอนาคต และความเหมาะสมอื่น ๆ ที่ทางคณะกรรมการบริษัทเห็นสมควร

นอกจากนี้ บริษัทจะมีผู้ถือหุ้นใหญ่หลัง IPO คือ ครอบครัวสัมฤทธิ์ ถือหุ้น 20.14% ครอบครัวณัฐชยางกุล ถือหุ้น 12.62% ครอบครัวเสนีย์มโนมัย ถือหุ้น 7.27% ครอบครัวจุฬานุตรกุล ถือหุ้น 6.17% และครอบครัวลิขิตสินโสภณ ถือหุ้น 5.18%

ขณะที่ นายปาลธรรม เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโส วาณิชธนกิจ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า มั่นใจว่า PCC จะเป็นหุ้นน้องใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุน เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ด้วยประสบการณ์การดำเนินธุรกิจของผู้บริหารมายาวนานเกือบ 40 ปี และด้วยจุดเด่น บริษัทดำเนินธุรกิจครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของระบบอุตสาหกรรมไฟฟ้า ทั้งการผลิต ส่ง และจำหน่าย ซึ่งนับเป็นธุรกิจที่ไม่เหมือนกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อื่น และเป็นผู้ผลิตและให้บริการที่เป็นตัวสำคัญในการนำไฟฟ้าจากแหล่งผลิตที่มีขนาดใหญ่ มาถึงมือผู้บริโภคขั้นสุดท้ายที่มีความสำคัญต่อระบบไฟฟ้ามาก

นอกจากนี้บริษัทยังมีศักยภาพการเติบโตในอนาคตได้อีกมาก จากการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทยของการไฟฟ้า ซึ่งมีแผนการลงทุน (2558-2579) เกือบ 2 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ นางสาววีรยา ศรีวัฒนะ หัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน กล่าวว่า PCC  เป็นผู้นําในธุรกิจเทคโนโลยีแพลตฟอร์มครอบคลุมอุตสาหกรรมสมาร์ทกริดของประเทศไทย ซึ่งการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) ครั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพฐานทุนให้แข็งแกร่ง  และนำไปพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง คือ ห่วงโซ่อุปทานครบวงจรของอุตสาหกรรมไผ่ พืชพลังงาน พืชเศรษฐกิจ  และอุตสาหกรรม 4.0 ตามแนวทางเศรษฐกิจสีเขียว Bio-Circular-Green Economy (BCG) ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ของโลก

โดยมั่นใจว่าหุ้น PCC จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ซึ่งการกระจายหุ้น IPO ที่่ผ่านมา มีนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนทั่วไปให้ความสนใจเข้าจองซื้อหุ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ เนื่องจากมองเห็นถึงศักยภาพการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต และการที่บริษัทฯมีความสัมพันธ์อันดีกับคู่ค้า เช่น Huawei, Schneider, Hitachi (Japan), Hitachi (Indonesia), Hyundai

ทั้งนี้ มองแนวโน้มผลประกอบการของ PCC จะมีกำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย 25.4% CAGR ในปี 2565-2567 จากโครงการในอนาคตที่การไฟฟ้ามีแผนจะปรับโครงข่ายระบบไฟฟ้าทั่วประเทศ รวมถึงแบ็กล็อกของงานที่ถูกเลื่อนการตรวจสอบเนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยบริษัทมีโอกาสในการเติบโตอีกมาก ทำให้นักวิเคราะห์ประเมินราคาเป้าหมาย PCC ที่ 4.76 บาท และ P/E 15.8 เท่า

สำหรับ บริษัทหลักทรัพย์ เอเอสแอล จำกัด ประเมินรายได้รวมปี 2565 อยู่ที่ 4.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.8% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และในปี 2566 ประเมินรายได้อยู่ที่ 5.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ต่อมาในปี 2567 ประเมินรายได้อยู่ที่ 5.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และในปี 2568 ประเมินรายได้อยู่ที่ 5.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.6% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเฉลี่ยต่อปีแบบ CAGR ที่ 7.6%

ขณะที่คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2565 อยู่ที่ 262 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.2% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และในปี 2566 อยู่ที่ 361 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.9% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และในปี 2567 อยู่ที่ 419 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.2% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และในปี 2568 อยู่ที่ 469 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.8% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเฉลี่ยต่อปีแบบ CAGR ที่ 21.4% ขณะที่แนวโน้มการเติบโตของกำไรสุทธิค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยประเมินมูลค่าที่เหมาะสมสิ้นปี 2566 อยู่ที่ 4.77 บาท

Back to top button