TDRI ชี้ควบรวม TRUE-DTAC “ผูกขาดตลาด-กระทบผู้บริโภค”
“TDRI” ชี้กรณีควบรวม TRUE-DTAC จะทำให้โครงสร้างตลาดโทรศัพท์มือถือ และโทรคมนาคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างยากที่จะย้อนกลับคืนมาได้อีก จากการที่จำนวนผู้ประกอบการรายใหญ่ลดลง อีกทั้งส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้บริโภค
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ระบุการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC จะทำให้โครงสร้างตลาดโทรศัพท์มือถือ และโทรคมนาคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างยากที่จะย้อนกลับคืนมาได้อีก
อีกทั้งส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้บริโภค และระบบเศรษฐกิจไทย ทำให้ตลาดโทรศัพท์มือถือมีโครงสร้างผูกขาดมากขึ้น จากการที่จำนวนผู้ประกอบการรายใหญ่ลดจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย และยากที่จะแก้ไขให้กลับมามีผู้ประกอบการ 3 รายมีระดับการแข่งขันเช่นเดิมได้อีกเพราะตลาดเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวแล้วจึงไม่น่าจะมีรายใหม่สนใจเข้ามาให้บริการได้อีก
สำหรับเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.เตรียมเสนอ เพื่อป้องกันผลกระทบด้านลบที่จะเกิดขึ้นนั้น เมื่อวิเคราะห์ดูแล้วพบว่า มาตรการส่วนหนึ่งมุ่งหวังให้เกิดผู้ให้บริการรายใหม่ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองหรือไม่ แต่เมื่อตลาดโทรศัพท์มือถือในไทยอิ่มตัวแล้ว มาตรการนี้จึงไม่สามารถทำให้ตลาดกลับไปมีผู้ประกอบการ 3 รายได้อีก
ขณะที่มาตรการอีกส่วนที่มุ่งควบคุมราคาค่าบริการไม่ให้สูงขึ้น คุณภาพบริการไม่แย่ลง และสัญญาให้บริการไม่ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบมากขึ้น เป็นมาตรการที่ กสทช.ประกาศใช้อยู่แล้ว แต่ไม่ปรากฏว่ากำกับดูแลได้จริง
โดยไม่สามารถคาดหวังได้ว่า เมื่อตลาดผูกขาดมากขึ้น ยิ่งทำให้การกำกับดูแลยากขึ้นไปด้วย จู่ ๆ กสทช.จะเก่งขึ้นทันที จนกำกับดูแลตลาดผูกขาดนี้ได้ มาตรการอีกกลุ่ม เช่น ห้ามผู้ประกอบการที่ควบรวมกันใช้คลื่นร่วมกัน หรือห้ามใช้แบรนด์เดียวกันยิ่งสร้างผลเสีย เพราะทำให้ประโยชน์อันน้อยนิดต่อผู้บริโภคที่อาจเกิดขึ้นจากการควบรวมไม่เกิดขึ้นเลย เพราะผู้ประกอบการไม่สามารถลดต้นทุนได้