PCC เดินหน้าเพิ่มกำลังผลิต “หม้อแปลง” จ่อบุ๊กโรงไฟฟ้ากัมพูชาปี 66 หนุนผลงานโตกระฉูด
PCC เปิดเทรดวันแรกแตะ 4.02 บ. สูงกว่าราคา IPO ที่ 4 บ. โชว์แบ็กล็อก 2.3 พันลบ. ทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 65-66 พร้อมเดินหน้าเพิ่มกำลังผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า-ตัวถังหม้อแปลงไฟฟ้า-ตู้โลหะสำหรับสวิตช์เกียร์ รองรับดีมานด์เพิ่ม จ่อบุ๊กโรงไฟฟ้ากัมพูชาปี 66 หนุนผลงานโตกระฉูด
บริษัท พรีไซซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PCC ได้เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในกลุ่มอุตสาหกรรม ทรัพยากร พลังงานและสาธารณูปโภค เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2565 เป็นวันแรก ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วไปอย่างดีเยี่ยม โดยเปิดซื้อขายที่ 4.02 บาท เพิ่มขึ้น 0.02 บาท เปรียบเทียบจากราคาไอพีโอที่ 4.00 บาท/หุ้น
นายกิตติ สัมฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ PCC เปิดเผยว่า ราคาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและมีมูลค่าการซื้อขายคึกคักอย่างมาก สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯ ถือเป็นหุ้นตัวแรกที่ดำเนินธุรกิจที่เน้นระบบส่งและจำหน่าย Smart Grid ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ตามแนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้า จากการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทยของการไฟฟ้า ซึ่งมีแผนการลงทุน (ปี 2558-2579) เกือบ 2 แสนล้านบาท ประกอบกับปัจจุบันบริษัทฯมีมูลค่างานในมือ (Backlog) ณ 30 มิถุนายน 2565 อยู่ที่กว่า 2.3 พันล้านบาท คาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้ใน 2565-2566
พร้อมกันนี้ ยังมีแผนขยายกำลังการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายอีก 3 เท่า หรือคิดเป็นกำลังการผลิตรวมประมาณ 1,080 MVA ต่อปี ภายในปี 2567 และเพิ่มกำลังการผลิตตัวถังหม้อแปลงไฟฟ้า จากกำลังการผลิตประมาณ 2,000 ถังต่อปี เพิ่มเป็นประมาณ 7,500 ถังต่อปี และเพิ่มกำลังการผลิตตู้โลหะสำหรับ ตู้สวิตช์เกียร์ และตู้สวิตช์บอร์ด อุปกรณ์ควบคุม จากกำลังการผลิตประมาณ 2,000 ตู้ต่อปี เพิ่มเป็นประมาณ 3,200 ตู้ต่อปี ส่วนโครงการโรงงานผลิตหม้อแปลง และตู้ควบคุมไฟฟ้าในประเทศกัมพูชา คาดว่าเริ่มผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ได้ในต้นปี 2566 โดยทำให้บริษัทฯจะเริ่มรับรู้รายได้จากกัมพูชาเข้ามาตั้งแต่ปี 2566
“ขอขอบคุณนักลงทุนที่ให้การตอบรับหุ้น PCC เป็นอย่างดี ผมในฐานะผู้นำขององค์กรได้ทำงานอยู่ในธุรกิจนี้มาเกือบ 40 ปี มีความเชื่อมั่นในธุรกิจ smart grid technology platform ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบบสาธารณูปโภคพลังงานไฟฟ้าของประเทศ และได้มีพันธะสัญญาระหว่างประเทศในโลกตามกฎเกณฑ์เรื่องแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ผมเชื่อมั่นว่าเรามีความพร้อมในทางวิศวกรรมที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและขยายธุรกิจให้มีศักยภาพการเติบโตต่อไปข้างหน้า และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นต่อไปได้ในอนาคต” นายกิตติ กล่าว
ด้านนายปาลธรรม เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโส วาณิชธนกิจ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT ที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า การเข้าเทรดในวันแรกของ PCC ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม เนื่องจากนักลงทุนมั่นใจในปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯที่มีความแข็งแกร่ง โดยเม็ดเงินที่ได้จากการเสนอขายไอพีโอในครั้งนี้ จะใช้เป็นเงินลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และโครงการในอนาคตอื่น อาทิ โครงการศูนย์การขายและการตลาด (Group Integration Sale & Marketing Center) เพื่อขยายยอดขายของกลุ่มบริษัท เนื่องจากบริษัทเพิ่ม scale ของการผลิตในสินค้าเดิมและขยายสินค้าใหม่ โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2567
นอกจากนี้ยังใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานและชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน ซึ่งจะทำให้บริษัทฯมีฐานทุนรองรับธุรกิจ ให้สามารถเติบโตแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต
ด้านนางสาววีรยา ศรีวัฒนะ หัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน เชื่อว่า PCC จะเป็นหุ้นที่สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุนในอนาคต เนื่องจากมีศักยภาพในการเติบโตจากแผนลงทุนของการไฟฟ้า จากการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทยของการไฟฟ้า ซึ่งมีแผนการลงทุน (ปี 2558-2579) เกือบ 2 แสนล้านบาท
ขณะเดียวกัน มองว่า PCC เป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ มีความมั่นคงทางด้านรายได้ ซึ่งบริษัทฯสามารถสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอทั้งในส่วนการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ในระบบจำหน่ายไฟฟ้า งานรับเหมาก่อสร้าง และจำหน่ายกระแสไฟฟ้า และมี Backlog ชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการเพิ่มกำลังการผลิตในส่วนต่างๆ และการรับรู้รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากโรงงานกัมพูชา