DITTO ควัก 160 ล้าน “ปลูกป่า” เป้าแสนไร่-จ่อชิงงาน “ราชการดิจิทัล” กว่า 4 พันลบ.
DITTO ควักเงิน 160 ลล้านบาท เดินหน้า “ปลูกป่า” ทาบ “ชุมชน” นำพื้นที่เข้าร่วม เป้าแสนไร่-ตั้งทีมเตรียมรับงานระบบราชการดิจิทัล ลุยเจาะ “อบจ.-อบต.” กว่า 8 พันแห่ง มูลค่ากว่า 3-4 พันลบ.
นายฐกร รัตนกมลพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DITTO เปิดเผยในงาน “BLS Carbon credit Steering toward sustainable growth” จัดโดย บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง จำกัด หรือ บล.บัวหลวง ว่า บริษัทฯ ได้ให้ความสนใจในธุรกิจคาร์บอนเครดิตมาโดยตลอด ล่าสุด บ.สยาม ทีซี เทคโนโลยี ซึ่งเป็นบริษัทย่อยได้รับใบอนุญาตให้เข้าไปดูแลรักษาป่าชายเลน 11,448.3 ไร่เป็นเวลา 30 ปี เพื่อใช้ประโยชน์ทางคาร์บอนเครดิต และบริษัทจะไปเจรจากับชุมชนบริเวณที่ได้สิทธิ์ในการปลูกป่าเพื่อจะเข้ามาร่วมลงทุนและช่วยบริหารจัดการซึ่งทางบริษัทตั้งเป้าปลูกป่าถึง 1 แสนไร่
สำหรับสาเหตุที่ทำให้บริษัทฯ สนใจธุรกิจนี้สืบเนื่องมาจาก ก่อนหน้านี้มีการดำเนินธุรกิจที่ช่วยเรื่องลดโลกร้อน ทั้งธุรกิจบริหารจัดการเอกสารและข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล “Data & Document Management Solutions” ซึ่งมีส่วนช่วยลดการใช้กระดาษ ทำให้ลดการตัดต้นไม้ลงได้ ซึ่งการลดการใช้กระดาษสามารถนำไปคำนวณคาร์บอนเครดิตได้
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่ม นวัตกรรม วิศวกรรมและเทคโนโลยี โดย บ.สยาม ทีซีเทคโนโลยี มีโครงการบริหารจัดการคัดแยกขยะ ที่สามารถช่วยลดขยะและนำมาคำนวณคาร์บอนเครดิตได้ ทุกวันนี้บริษัทฯ ได้เข้าไปบริหารจัดการคัดแยกขยะให้กับ อบจ. แห่งหนึ่งจำนวน 160 ตันต่อวันซึ่งคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิต 0.5 – 0.6 ต่อตันต่อวัน หากรวมทั้งปีก็ไม่น้อย และยังได้ค่าบริหารจัดการอีกด้วย
ทั้งนี้ก่อนที่บริษัทฯ จะมาโฟกัสด้านกรีนเทคโนโลยี ก็มีประสบการณ์ มีความชำนาญด้านเทคโนโลยีอื่นๆ มาพอสมควร ด้าน บ.สยาม ทีซี เทคโนโลยี ก็มีความเชี่ยวชาญการบริหารจัดการน้ำมาก่อนจึงสนใจในเรื่องปลูกป่าเพื่อใช้ประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตโดยศึกษาเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว
ขณะนี้ดิทโต้มีความพร้อมทั้ง บุคลากร รวมถึงต้นกล้าที่จะนำมาปลูก เงินลงทุนราว 150-160 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายปีละ 30 – 35 ล้านบาทสำหรับดูแลรักษาป่าและช่วยสร้างงานให้คนในชุมชนก็เตรียมไว้แล้ว ขณะเดียวกันก็กำลังศึกษาวิธีการระดมทุนในรูปแบบอื่น เช่นการออกบอนด์ หรือ โทเคน โดยเปิดให้ภาคธุรกิจที่ต้องใช้คาร์บอนเครดิตจองล่วงหน้า ถ้าสำเร็จอาจจะไม่ต้องใช้เงินบริษัทในการลงทุน
“ส่วนในอนาคต เชื่อว่าราคาคาร์บอนเครดิตจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามกระแสโลกที่เอาจริงกับปัญหาโลกร้อน รวมถึงการที่ประเทศผู้นำเข้าบังคับให้ผู้ส่งออกต้องเสียภาษีตามมาตรการ CBAM หากไม่สามารถลดคาร์บอนได้และทราบว่าอีก 2 ปี ประเทศไทยก็จะออกกฎหมายเป็นภาคบังคับเช่นกัน อีกทั้งคาร์บอนเครดิตที่ได้จากป่าชายเลนเรียกว่า บลูคาร์บอน มีราคาสูงกว่าที่ได้จากแหล่งอื่นๆ” นายฐกร กล่าว
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีราชกิจจานุเบกษาประกาศ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ 90 วันหลังจากประกาศ ทำให้หน่วยงานราชการต่างๆ สามารถบริหารจัดการเอกสารให้เป็นระบบดิจิทัลได้แบบมีกฎหมายรองรับ ซึ่งมูลค่ารวมของการปรับการทำงานของหน่วยงานราชการให้กลายเป็นดิจิทัลทั้งระบบนั้น คาดว่ามูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ ทางบริษัทจะเน้นการตลาดไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง อบจ. เทศบาล อบต. ทั่วประเทศกว่า 8 พันแห่ง คาดว่ามูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 – 4 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทได้ทดลองบุกตลาดมาระยะหนึ่งแล้วโดยจัดทีมขาย เข้าไปขายโดยตรงและได้ร่วมมือกับตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทในต่างจังหวัดซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ เพราะองค์กรเหล่านี้เป็นลูกค้าอยู่แล้วทำให้ขายง่ายขึ้น