ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง UBA ขายไอพีโอ 170 ล้านหุ้น เทรด mai ปีนี้
ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง UBA ผู้นำธุรกิจบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร ขายไอพีโอ 170 ล้านหุ้น คาดเข้าเทรด mai ปีนี้ ระดมทุนรองรับการลงทุน และการขยายธุรกิจ เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มศักยภาพความแข็งแกร่งของธุรกิจ
นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท ยูทิลิตี้ บิสิเนส อัลลายแอนซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ UBA เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เริ่มนับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนของ UBA เป็นที่เรียบร้อย
โดย UBA ได้ยื่นเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering หรือ IPO) จำนวน 170,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 28.33 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ โดยจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) หมวดธุรกิจ กลุ่มบริการ ภายในปีนี้
ทั้งนี้ UBA ประกอบธุรกิจในการให้บริการจัดการน้ำ เดินระบบ และบำรุงรักษาแบบครบวงจร (Integrated Operation and Maintenance หรือ IOM) พร้อมทั้งการบริการให้คำปรึกษา ออกแบบ ก่อสร้าง และติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ ตามความต้องการของลูกค้า โดยครอบคลุมการให้บริการใน 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ งานระบบบำบัดน้ำเสีย อุโมงค์ระบายน้ำ และระบบน้ำประปา
อีกทั้งปัจจุบัน บริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการจัดการน้ำเสียเอกชนรายใหญ่ที่สุดของกรุงเทพมหานคร (อ้างอิงตามรายงานประจำปี สำนักงานจัดการคุณภาพน้ำ ปี 2563) และเป็นบริษัทเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในงานบริหารจัดการเดินระบบ และบำรุงรักษาอุโมงค์ระบายน้ำให้กับกรุงเทพมหานคร โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ดำเนินการโครงการให้กับกรุงเทพมหานครมาต่อเนื่องแล้ว จำนวน 7 โครงการ มูลค่าโครงการรวมกว่า 4,000 ล้านบาท และปัจจุบันบริษัทฯ มีงานอยู่ระหว่างการดำเนินการ (Backlog) ณ ไตรมาส 2 ปี 2565 มูลค่ารวมกว่า 1,616 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน นายสมชาติ สังหิตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร UBA เปิดเผยว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตในอนาคตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนโครงการในอนาคต รวมถึงมีเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน อีกทั้งการระดมทุนในครั้งนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนและประชาชนทั่วไปได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการต่อยอดความสำเร็จของ UBA อีกด้วย
อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากการเป็นผู้ให้บริการจัดการเดินระบบและบำรุงรักษาอย่างครบวงจรที่มีลูกค้าเป็นกรุงเทพมหานคร บริษัทยังมีโอกาสขยายงานเพิ่มเติมสู่โครงการอุโมงค์ระบายน้ำและโครงการระบบบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีแผนขยายการลงทุนต่อเนื่องถึงปี 2580
สำหรับวัตถุประสงค์การใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อลงทุนพัฒนาระบบสารสนเทศ (Information System) วิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างสินค้าและบริการใหม่ ซื้อและปรับปรุงเครื่องจักร ชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจในอนาคต
ส่วนภาพรวมผลประกอบการของบริษัทฯ ในปี 2562 – 2564 มีรายได้รวมจำนวน 432.40 ล้านบาท 532.69 ล้านบาท 533.59 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิจำนวน 18.30 ล้านบาท 43.43 ล้านบาท 52.35 ล้านบาท คิดเป็นเป็นอัตรากำไรสุทธิร้อยละ 4.23 ร้อยละ 8.15 ร้อยละ 9.81 และงวด 6 เดือนแรกปี 2565 บริษัทมีรายได้รวม 327.18 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิจำนวน 30.83 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิร้อยละ 9.42
โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้รายได้ที่เพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ด้วยบริษัทฯ ได้รับงานสัญญาของกรุงเทพมหานครในงานโครงการบริหารจัดการน้ำ เดินระบบและบำรุงรักษาแบบครบวงจร (IOM) ในโครงการโรงบำบัดน้ำเสีย 2 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการเดินระบบ บำรุงรักษา และบริหารจัดการโรงควบคุมคุณภาพน้ำหนองแขม-ทุ่งครุ ระยะที่ 4 ในปี 2563, 2) โครงการเดินระบบ บำรุงรักษา และบริหารจัดการ โรงควบคุมคุณภาพดินแดง ระยะที่ 4 ในปี 2564 และโครงการอุโมงค์ระบายน้ำ 1 โครงการ ในปี 2564 ได้แก่ โครงการเดินระบบ บำรุงรักษา และบริหารจัดการอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงมักกะสันสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะที่ 3 ประกอบกับบริษัทฯ ได้มุ่งเน้นขยายงานใหม่ไปยังกลุ่มลูกค้าอื่นๆ รวมถึงกลุ่มลูกค้าเอกชนในหลากหลายอุตสาหกรรม
ทั้งนี้เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าให้มีความหลากหลายและลดการพึ่งพิงลูกค้ารายใดรายหนึ่ง บริษัทฯ ยังมุ่งมั่นขยายงานด้านการให้บริการงานด้านวิศวกรรมและจัดหาอุปกรณ์ เพื่อให้บริษัทฯ มีการบริการที่ครบวงจร และเพิ่มโอกาสขยายงานด้าน IOM ของบริษัทมากขึ้น ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำไรสุทธิสูงขึ้น เนื่องจากมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้นประกอบกับบริษัทสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ