SCBEIC ชี้อุตสาหกรรม “ไก่เนื้อ” ปีหน้าโต 10.5% รับส่งออกพุ่งต่อเนื่อง
SCBEIC ชี้อุตสาหกรรม “ไก่เนื้อ” ปีหน้าโต 10.5% รับส่งออกพุ่งต่อเนื่อง หลังเศรษฐกิจฟื้น-มาเลเซียระงับส่งออกไก่ชั่วคราว ขณะที่ราคาขายปลีก-ส่งไก่สดปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองว่า อุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการบริโภคเนื้อไก่ทั้งจากตลาดในประเทศและตลาดส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้นตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคในหลายประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายต่าง ๆ เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น
อย่างไรก็ดียังคงต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงจากแนวโน้มเศรษฐกิจในปีหน้าที่อาจชะลอลงกว่าที่คาดการณ์ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงซึ่งจะกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวและกำลังซื้อของผู้บริโภค
สำหรับอุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยผลิตเพื่อป้อนความต้องการของตลาดภายในประเทศเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนราว 70% ของผลผลิตไก่ทั้งหมดในประเทศ ดังนั้นการบริโภคในประเทศจึงเป็นตัวชี้วัดสำคัญต่อทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรม ส่วนที่เหลืออีกราว 30% เป็นการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นตลาดในภูมิภาคเอเชีย
สำหรับการบริโภคเนื้อไก่ในประเทศทยอยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เริ่มกลับมาเป็นปกติมากขึ้น ขณะที่ราคาขายปลีกไก่สดชำแหละก็ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นสอดรับกับความต้องการบริโภคภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น
โดย EIC มีมุมมองว่าการบริโภคเนื้อไก่ในประเทศของปี 2566 ทั้งในส่วนเนื้อไก่แช่เย็นแช่แข็งและเนื้อไก่ปรุงสุกมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดอัตราการเติบโตที่ 2.9%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการทยอยฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ความต้องการบริโภคจากภาคครัวเรือนและภาคบริการปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย รวมถึงปัจจัยหนุนจากการที่เนื้อไก่ถือเป็นอาหารประเภทโปรตีนที่มีความจำเป็น เนื่องจากมีราคาถูกกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ๆ โดยเปรียบเทียบ จึงทำให้ครัวเรือนในทุกระดับรายได้สามารถเข้าถึงได้
ทั้งนี้การส่งออกไก่ของไทยมีแนวโน้มเติบโตดีเช่นเดียวกันและเป็นการขยายตัวดีในเกือบทุกตลาดส่งออกหลัก โดยได้รับแรงหนุนสำคัญจากความต้องการบริโภคในตลาดโลกที่ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมทั้งอานิสงส์จากนโยบายเปิดประเทศ การทยอยรับรองมาตรฐานโรงงานส่งออกไก่ของไทย และการส่งออกเพื่อทดแทนคู่แข่งอย่างมาเลเซียที่ระงับการส่งออกไก่ชั่วคราวจากปัญหาขาดแคลนไก่ในประเทศ
สำหรับแนวโน้มมูลค่าการส่งออกไก่ของปี 2566 โดยคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องที่ราว 10.5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ภาพรวมการส่งออกในระยะ Medium-term มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลก
สำหรับผลผลิตไก่เนื้อของไทยในปี 2566 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 2%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามความต้องการบริโภคที่คาดว่าจะขยายตัวสูงขึ้นทั้งจากตลาดในประเทศและตลาดส่งออก สอดคล้องกับการทยอยฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ
โดยคาดว่าไทยจะผลิตไก่เนื้อได้ในปริมาณราว 1,610 ล้านตัว ขณะที่ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้ยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากปีนี้ สอดคล้องกับ 1) ความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น 2) โรคระบาดในสุกร (ASF) ที่ยังคงยืดเยื้อ และ 3) ต้นทุนการเลี้ยงไก่ที่คาดว่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง
สำหรับปัจจัยหนุนสำคัญต่อแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมไก่เนื้อในระยะต่อไป ได้แก่
-โรค ASF ในสุกร การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่ยังคงยืดเยื้อในหลายประเทศโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย จะยังเป็นปัจจัยหนุนสำคัญต่อความต้องการบริโภคเนื้อไก่ในฐานะสินค้าทดแทนในช่วง 1-2 ปีนี้
-Brexit การส่งออกสินค้าต่าง ๆ รวมทั้งไก่ ไปยังตลาด UK มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยอาจได้รับปัจจัยหนุนจากการบรรลุข้อตกลงเสรีทางการค้า (FTA) ร่วมกันในอนาคต รวมทั้งอานิสงส์จากโครงสร้างอัตราภาษีใหม่ของ UK หลังจาก Brexit ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม (Fair competition) และส่งเสริมให้เกิดการค้าระหว่างกันมากขึ้น
-การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย การส่งออกสินค้าไก่ไปยังประเทศซาอุดีอาระเบียมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ภายหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้า ซึ่งอาจปูทางไปสู่การจัดทำข้อตกลงเสรีทางการค้า (FTA) ในระยะต่อไป
-การทยอยรับรองมาตรฐานโรงงานแปรรูปและส่งออกไก่ของไทย โดยในช่วงที่ผ่านมาประเทศคู่ค้าของไทยได้ทยอยรับรองมาตรฐานโรงงานไก่ของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเห็นว่าการผลิตไก่เนื้อของไทยมีมาตรฐานในระดับสากลตลอดทั้งกระบวนการผลิต ซึ่งเปิดโอกาสให้ไทยสามารถส่งออกไก่ไปยังตลาดต่าง ๆ ได้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยังคงต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงด้านลบอื่น ๆ ร่วมด้วย ทั้งในส่วนของปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค เช่น เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ อัตราเงินเฟ้อที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง และการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงเฉพาะของอุตสาหกรรมไก่เนื้อ เช่น ข้อกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) โรคระบาดในสัตว์ปีก และการแข่งขันจากสินค้าทดแทนใหม่ ๆ เป็นต้น ซึ่งปัจจัยลบเหล่านี้อาจส่งให้ความต้องการบริโภคเนื้อไก่ชะลอตัวลงได้
EIC มองว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไก่เนื้อจำเป็นต้องปรับแผนธุรกิจและกลยุทธ์การเติบโตเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านต่าง ๆ รวมทั้งตอบโจทย์ผู้บริโภคและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานการผลิตของอุตสาหกรรมตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและลดอุปสรรคทางการค้าด้านต่าง ๆ รวมไปถึงการมองหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากจนเกินไปและหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในตลาดส่งออกดั้งเดิม หรือแม้แต่การให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่ที่มีความแปลกใหม่และมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เพื่อรับมือกับแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในอนาคต