เปิดโผ 10 หุ้นรับประโยชน์ “ส่งออก” เดือนก.ย. โต 7.8%

เปิดโผ 10 หุ้นประโยชน์ “ส่งออก” ได้แก่ CPF, GFPT, TFG, TU, ASIAN, CBG, OSP, SAPPE,ICHI, AH หลังกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยตัวเลขส่งออกเดือนก.ย. โต 7.8%


กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยข้อมูลการส่งออกของไทยเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา มีมูลค่า 24,919.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 888,371 ล้านบาท ขยายตัว 7.8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 เป็นผลมาจากการส่งออกรถยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง ปัญหาชิปขาดแคลนผ่อนคลายมากขึ้น ขณะที่สินค้ากลุ่มเกษตร อาหารสัตว์เลี้ยงเติบโตมากขึ้น และกิจกรรมต่างๆ ที่ผลักดันให้การส่งออกโต

โดยเฉพาะขยายตัวของสินค้าเกษตร 1.8% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และสินค้าอุตสาหกรรม 9.4% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปจีนหดตัวลดลง ประกอบกับอานิสงค์การอ่อนค่าของค่าเงินบาท และภาวะตึงตัวภาคอุปทานผ่อนคลายลงบางส่วน

ทั้งนี้ สินค้าเกษตรที่ขยายตัวดี เช่น อาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัว 13.4%, ไก่สด แช่แข็ง และแปรรูปขยายตัว 82.9% น้ำตาลทรายขยายตัว 16.3% อาหารกระป๋องขยายตัว 19.8% และผลไม้ขยายตัว 31.5%

ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัว 13.7% ด้านสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวดี เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ขยายตัว 18.3% รถยนต์และส่วนประกอบขยายตัว 8.4% อัญมณีและเครื่องประดับขยายตัว 89.6% โทรศัพท์และส่วนประกอบขยายตัว 115.7% ขยายตัว 23.4% โดยรวม 9 เดือนแรก การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 9.0%

สำหรับหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง ได้แก่หุ้น บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU, บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN

ส่วนหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากการส่งออกของไก่สดแช่แข็ง และแปรรูปขยายตัว ได้แก่ บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF, บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG  รวมถึงกลุ่มอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ได้แก่ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU

อีกทั้งกลุ่มเครื่องดื่ม ได้แก่ บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE, บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG, บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI, บริษัท โรแยล พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ PLUS, บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SNNP และ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP

ขณะที่หุ้นกลุ่มส่งออกน้ำตาล ได้แก่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL, บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR และ บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS

ส่วนกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ ได้แก่ บริษัท ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JUBILE

รวมถึงรถยนต์และส่วนประกอบ ได้แก่ บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CWT, บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SAT, บริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ STANLY, บริษัท พี.ซี.เอส.แมชีน กรุ๊ปโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PCSGH และ บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ได้แก่ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE, บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA และ บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7

อย่างไรก็ตามหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากการส่งออกข้างต้นสอดคล้องกับนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) และ บริษัท หลักทรัพย์พาย จำกัด (มหาชน) มีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นที่ได้รับประโยชน์การส่งออกประจำเดือนกันยายนเติบโต 7.8%

บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ระบุว่ากระทรวงพาณิชย์ฯ เปิดเผยตัวเลขส่งออกเดือนกันยายน เติบโต 7.8% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนดีกว่าตลาดคาดไว้ที่ 4.1% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน คาดว่าสินค้าส่งออกเติบโตเด่น มีจิตวิทยาบวกต่อกลุ่ม ไก่สด ไก่แช่เย็น และแช่แข็ง ได้แก่ GFPT, CPF รวมถึงอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ได้แก่ TU ส่วนอาหารสัตว์เลี้ยง ได้แก่ TU, ASIAN, เครื่องดื่ม ได้แก่ SAPPE, CBG, ICHI รวมถึงยานยนต์ ได้แก่ AH

บริษัท หลักทรัพย์พาย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า หุ้นได้ประโยชน์ตัวเลขการส่งออกประจำเดือนกันยายนโต 7.8% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ดีกว่าตลาดคาดไว้ที่ 4% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อาทิ ธุรกิจส่งออกไก่สด ได้แก่ CPF, GFPT, TFG และอาหารทะเลกระป๋อง ได้แก่ TU ส่วนอาหารสัตว์ ได้แก่ ASIAN ด้านกลุ่มเครื่องดื่มได้แก่ CBG, OSP และ ICHI

Back to top button