“ทองคำนิวยอร์ก” ปิดลบ 20.8 เหรียญ เซ่นดอลล์แข็ง-บอนด์ยีลด์พุ่ง

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์ก ปิดลบ 20.8 ดอลลาร์ ลดลง 1.25% นื่องจากนักลงทุนเทขายสัญญาทองคำ หลังจากที่ดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐพุ่งขึ้น


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันศุกร์ (28 ต.ค.65) เนื่องจากนักลงทุนเทขายสัญญาทองคำ หลังจากที่ดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐพุ่งขึ้น

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 20.8 ดอลลาร์ หรือ 1.25% ปิดที่ 1,644.8 ดอลลาร์/ออนซ์ และลดลง 0.7% ในรอบสัปดาห์นี้

สำหรับสัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 34.7 เซนต์ หรือ 1.78% ปิดที่ 19.147 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 18.3 ดอลลาร์ หรือ 1.89% ปิดที่ 949.1 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 41 ดอลลาร์ หรือ 2.1% ปิดที่ 1,897.20 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาทองคำถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.15% แตะที่ระดับ 110.7520

ทั้งนี้ ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจะลดความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ขณะที่การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย

ขณะที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เนื่องจากนักลงทุนยังคงคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมสัปดาห์หน้า หลังสำนักงานสถิติกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดีดตัวขึ้น 6.2% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับตัวขึ้น 6.2% เช่นกันในเดือนส.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.3% และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.ย. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากดีดตัวขึ้น 0.3% เช่นกันในเดือนส.ค.

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 5.1% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.2% แต่สูงกว่าระดับ 4.9% ในเดือนส.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนก.ย. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนส.ค.

ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

นอกจากนี้ นักลงทุนยังเทขายสัญญาทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 59.9 ในเดือนต.ค. และสูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 59.8 หลังจากแตะระดับ 58.6 ในเดือนก.ย.

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันดีดตัวสู่ระดับ 65.6 แต่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนข้างหน้าร่วงลงสู่ระดับ 56.2

Back to top button