SCN แย้มข่าวดี! คว้างาน OR สร้างปั๊มน้ำมันแบบใหม่ 100 ล้าน
SCN มุ่งมั่นสร้างผลประกอบการปี 65 ทำนิวไฮ รับแรงหนุนธุรกิจกัญชง-กัญชามีรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมธุรกิจNGV เติบโตแกร่ง และจ่อประกาศข่าวดีงานก่อสร้างปั๊มน้ำมันรูปแบบใหม่ OR กว่า 100 ล้านบาท และซ่อมบำรุงสถานี NGV เพิ่มอีก 1 สัญญาให้กับกลุ่ม ปตท.
ดร.ฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN เปิดเผยว่าผลประกอบการในภาพรวมทั้งปี 2565 เติบโตทำนิวไฮต่อเนื่อง และรายได้รวมปี 2565 จะทำได้ตามเป้าหมายที่ประมาณไว้ 2,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากทุกธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันกล่าวว่าผลการดำเนินงานหลังจากนี้ให้มองภาพ SCN ในแง่ของการทำกำไรมากกว่าส่วนของรายได้ เนื่องจากบริษัทพยายามผลักดันธุรกิจที่สร้างผลกำไรมากขึ้น โดยเฉพาะในปีหน้ากลุ่มธุรกิจต่างๆที่ขยายตัวเป็นรูปธรรม ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำแผนงาน เบื้องต้นประเมินธุรกิจก๊าซธรรมชาติ NGV ยอดขายจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามลูกค้าที่เพิ่มขึ้น หลังจากราคาน้ำมันที่ยังสูง รวมถึงธุรกิจก๊าซธรรมชาติอัดสำหรับอุตสาหกรรม (iCNG) ที่จะทำรายได้สถิติสูงสุดใหม่
นอกจากนี้บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะรับงานที่ไม่ใช่เกี่ยวกับแก๊ส (Non-gas) มากขึ้น โดยบริษัทเตรียมประกาศได้รับงานใหม่ หรือสัญญาเจรจาที่จะปฏิบัติตามข้อเสนอที่เป็นเงื่อนไขนำไปสู่สัญญาผูกผัน (LOI) จากกลุ่ม ปตท. หลังชนะการประมูลงานในโครงการก่อสร้างปั๊มน้ำมันรูปแบบใหม่ของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR มูลค่าหลักกว่า 100 ล้านบาท พร้อมทั้งรอ LOI ซ่อมบำรุงสถานี NGV ให้กับกลุ่ม ปตท. อีก 1 สัญญาซึ่งจะมีข่าวดีเร็วๆนี้ จากเดินที่มี 2 สัญญา จะส่งผลให้เป็น 3 สัญญา และถือว่าจะเป็นการรับงานจากปตท.เดิม 50% เป็น 75%
ส่วนของธุรกิจ Solar Rooftop ซึ่งบริษัทดำเนินการในรูปแบบโครงการซื้อขายไฟฟ้าภาคเอกชน (Private PPA) ภายใต้บริษัท สแกนแอดวานซ์ เพาเวอร์ จำกัด หรือ SAP มีรายได้เพิ่มขึ้น 20-30% ตามค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ปัจจุบันบริษัทมีสัญญาในมือ 25 เมกะวัตต์ และพัฒนาโรงไฟฟ้าจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ไปก็ว่า 12 เมกะวัตต์แล้ว และยังมีแผนเข้าไปควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าอีก 6 เมกะวัตต์ ในอนาคตอันใกล้ รวมถึงการพัฒนาโครงการอื่นๆ เพื่อให้มีโรงไฟฟ้า COD ให้ครบ 25-30 เมกะวัตต์ ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯภายในปี 2566
โดยความคืบหน้าการนำ SAP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น หลังตั้งบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) โดยเตรียมยื่นแบบรายงานคำขอเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในปลายปี 2566 เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน และเสริมศักยภาพต้นทุนการแข่งขันให้กับธุรกิจต่อไป
สำหรับธุรกิจกัญชง-กัญชา ภายใต้บริษัท สแกน เมดิเฮิร์บ จำกัด จะมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น หลังมีคำสั่งซื้อล็อตที่สองกว่า 100 กิโลกรัม ในเดือน พ.ย. 2565 และคาดว่าคำสั่งซื้อจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตเป็นเดือนละ 200-400 กิโลกรัม เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีความสามารถในการปลูกกัญชงแบบอินดอร์บนพื้นที่มากกว่า 3,150 ตารางเมตร กำลังการผลิตกว่า 200 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นหนึ่งไม่กี่บริษัทที่สามารถผลิตกัญชา-กัญชง เกรดทางการแพทย์ได้ หากเทียบกับล็อตแรกที่ขายได้เพียง 3 กิโลกรัม ด้วยราคา 50,000 บาทต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ดีหากธุรกิจกัญชา-กัญชงไม่สามารถสร้างรายได้ตามแผนจะไม่เกิดความเสียหาย หรือขาดทุนจากธุรกิจนี้ เนื่องจากมีนักลงทุนเข้ามาถือหุ้น 20% คิดเป็นมูลค่า 48 ล้านบาทเทียบเท่ามูลค่าการลงทุนทั้งหมดแล้ว
ขณะที่ธุรกิจโรงไฟฟ้าไฟฟ้ามินบู ในประเทศเมียนมา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 220 เมกะวัตต์ โดยเฟสแรก 50 เมกะวัตต์ จ่ายไฟเชิงพาณิชย์และรับรู้รายได้ต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องการเมืองภายในของเมียนมา ส่วนเฟส 2 อีก 50 เมกกะวัตต์ สัญญา 30 ปี อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เบื้องต้นกำหนดสร้างแล้วเสร็จในปลายปี 2565 หรือช้าสุดต้นปี 2566
อย่างไรก็ตามโรงไฟฟ้ามินบูไม่เหมือนกับธุรกิจอื่น เนื่องจากดำเนินธุรกิจภายใต้ภาพลักษณ์บริษัทเมียนมา และเมียนมามีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีไฟฟ้าหล่อเลี้ยงประเทศเพียง 30% ของความต้องการใช้เท่านั้น หากมีการหยุดธุรกิจจะส่งผลกระทบต่อเมียนมา ดังนั้นโครงการดังกล่าวจึงได้รับรายได้ตามที่กำหนดไว้ในทุกงวด
นอกจากนี้บริษัทสนใจเข้าไปร่วมประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของภาครัฐ ซึ่งมีความพร้อมด้านพื้นที่ลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ส่วนรถเมล์ NGV ที่ขายไป 489 คันเมื่อ 5 ปีก่อน ได้สัญญาซ่อมบำรุง 2,300 ล้านบาท โดย 5 ปีแรกจะได้ 900 บาทต่อคันต่อวัน และ 5 ปีหลังได้ค่าซ่อมรถเมล์ 1,600 บาทต่อคันต่อวัน ทำให้มีรายได้มากขึ้น