อย่าแพนิก! ‘สมาคมเช่าซื้อฯ’ แจงเกณฑ์สคบ. “รถใหม่-มือสอง” ดอกเบี้ยแพงกว่าปัจจุบัน
อย่าแพนิก! ‘สมาคมเช่าซื้อฯ’ แจงเกณฑ์ใหม่สคบ. “รถใหม่-มือสอง” ดอกเบี้ยแพงกว่าปัจจุบัน หลังเคาะเพดานดอกเบี้ยรถใหม่ 10% รถมือสอง 15% มีผล 10 ม.ค.66 จากปัจจุบันรถใหม่ไม่เกิน 3% ส่วนรถมือสอง 5-6%
นายวิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย เปิดเผยวันนี้(2 พ.ย.)ว่า สมาคมฯได้ออกประกาศชี้แจงข้อเท็จจริงตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หลังจากขณะนี้ มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องลดต้นลดดอก จะทำให้ดอกเบี้ยถูกลงและสามารถโปะหนี้ได้เหมือนการผ่อนบ้าน จนเกิดการชะลอซื้อก่อนประกาศมีผลหลังวันที่ 10 ม.ค.66
โดยยืนยันว่า การคิดคำนวณดอกเบี้ยไม่ได้เปลี่ยนระบบการคิดคำนวณแต่อย่างใด แม้จะเป็นการคิดแบบคงที่ตลอดอายุสัญญา แต่ได้แจ้งให้ลูกค้ารับรู้ค่างวดเป็นแบบลดต้นลดดอกอยู่แล้ว และยังมีเรื่องการโปะจ่ายหนี้ เพื่อให้ได้ลดดอกเบี้ย ซึ่งความจริงคือต้องมาโปะเพื่อปิดบัญชีเท่านั้น แตกต่างจากสินเชื่อบ้านที่สามารถโปะระหว่างงวดได้
ทั้งนี้การโปะเพื่อปิดบัญชีในปัจจุบันได้รับการลดดอกเบี้ย 50% ส่วนตามประกาศฉบับใหม่ของ สคบ. จะได้รับการลดตามสัดส่วนของการผ่อน 60-100% ซึ่งปกติจะผ่อน 60-72 งวด กว่าจะได้โปะปิดบัญชีก็ต้องผ่อนค่างวดมาระดับหนึ่งแล้ว โดยยอมรับว่า จากประกาศดังกล่าว สินเชื่อรถมอเตอร์ไซค์ถูกกระทบ เพราะปัจจุบันดอกเบี้ยรถมอเตอร์ไซค์คิดดอกเบี้ย 30-36% ต่อปี แต่ในประกาศคุมเพดานไว้ที่ 23% ซึ่งเมื่อมีผลหลัง 10 ม.ค.66 อาจทำให้ผู้กู้ขอสินเชื่อได้ยากขึ้น ผู้ปล่อยสินเชื่อมอเตอร์ไซค์เข้มงวดมากขึ้น ตามระดับความเสี่ยง อนุมัติยากขึ้น และอาจต้องมีเงินดาวน์ก้อนหนึ่ง
“หลายคนคิดว่าหลังจากวันที่ 10 ม.ค.66 ที่ประกาศของ สคบ. มีผลบังคับใช้ จะทำให้ดอกเบี้ยรถถูกลงนั้น ไม่จริง เพราะทุกวันนี้ดอกเบี้ยที่คิดถูกกว่า เพดานดอกเบี้ยที่ สคบ. กำหนดอยู่แล้ว ปัจจุบันรถใหม่ ไม่เกิน 3% และรถมือสอง 5-6% แต่เพดานรถใหม่ สคบ. 10% และรถมือสอง 15% ซึ่งส่งผลให้คนเข้าใจผิดจนเกิดการชะลอซื้อเกิดขึ้น กระทบไปยังตัวแทนขายหรือดีลเลอร์และกระทบไปส่วนอื่นๆ และการจ่ายโปะระหว่างงวดเพื่อให้ลดต้นลดดอกเหมือนสินเชื่อบ้านนั้น ไม่จริง เพราะการโปะตามประกาศนี้ คือโปะเพื่อปิดบัญชีเท่านั้น และที่ผ่านมาโปะเพื่อปิดบัญชีก็ได้ส่วนลดดอกเบี้ยอยู่แล้ว 50%”
นายวิสิทธิ์ กล่าวว่า สมาคมฯ จึงได้ออกประกาศเพื่อทำความเข้าใจที่แท้จริงแก่ประชาชน โดยการคิดดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้สินเชื่อเช่าซื้อแบบคงที่ตลอดอายุสัญญา เพื่อให้การคำนวณอัตราการผ่อนชำระให้มีจำนวนเท่ากันทุกงวด โดยมีทั้งดอกเบี้ยและต้นเงินในแต่ละงวด แต่ในการบันทึกบัญชีและการเสียภาษีอากรนั้นต้องปฏิบัติ ตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 17 โดยสภาวิชาชีพบัญชีแห่งประเทศไทย กำหนดให้การรับรู้รายได้ดอกเบี้ยของสัญญาเช่าซื้อต้องคำนวณโดยวิธีอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี
ด้านการคิดคำนวณจึงต้องแปลงจากแบบคงที่ มาคำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี หรือลดต้นลดดอก เพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณดอกเบี้ยรายเดือน กล่าวคือ ค่างวดที่ชำระมาจะนำไปหักดอกเบี้ยก่อน ที่เหลือจะหักเป็นต้นเงิน ซึ่งงวดนั้นๆ จะมีดอกเบี้ยมากว่าต้นเงิน และงวดท้าย ๆ จะมีต้นเงินมากกว่าดอกเบี้ย เมื่อชำระครบ ต้นเงินก็จะถูกหักชำระครบด้วยเช่นเดียวกับการผ่อนบ้าน
“ฉะนั้นก่อนหน้านี้การที่ สคบ. ประกาศให้ระบุการคิดดอกเบี้ยและการจัดทำตารางแนบท้าย โดยให้ระบุการคิดอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี นั้น ก็เพื่อให้ทราบว่าการคิดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ตลอดอายุสัญญานั้น เมื่อนำมาคำนวณแบบที่แท้จริงต่อปี หรือลดต้นลดดอกนั้น อยู่ในอัตราเท่าใด เพื่อที่ประชาชนจะได้ทราบอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง และใช้ในการตัดสินใจในการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินนั้น ๆ ต่อไป”