“ก.ล.ต.” ออกเกณฑ์จัดทำข้อมูล “ผู้ถือหน่วยลงทุน” ไม่เปิดเผยชื่อลูกค้า

“ก.ล.ต.” ออกหลักเกณฑ์จัดทำและจัดส่งรายงานข้อมูลผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวม โดยไม่เปิดเผยชื่อลูกค้า เน้นคุ้มครอง-ดูแลความเสี่ยง


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกประกาศการจัดทำและจัดส่งรายงานข้อมูลผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมฉบับเพิ่มเติม โดยให้ครอบคลุมข้อมูลบัญชีผู้ถือหน่วยลงทุนแบบไม่เปิดเผยชื่อ (omnibus account) เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้ลงทุน การกำกับดูแลความเสี่ยงและพัฒนาธุรกิจจัดการกองทุนรวม

โดย ก.ล.ต. ตระหนักถึงความสำคัญของการมีฐานข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ติดตามความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับกองทุนรวม และการคุ้มครองผู้ลงทุน รวมถึงจัดทำนโยบายสนับสนุนธุรกิจจัดการกองทุนและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้กำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จัดทำและจัดส่งข้อมูลผู้ถือหน่วยลงทุนต่อ ก.ล.ต. โดยเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนของผู้ถือหน่วยลงทุน ซึ่งยังไม่รวมข้อมูลบัญชีผู้ถือหน่วยลงทุนแบบไม่เปิดเผยชื่อ (omnibus account) ที่ผู้ถือหน่วยลงทุนถือผ่านตัวแทนขายหน่วยลงทุน

ทั้งนี้ ก.ล.ต. จึงออกประกาศเพิ่มเติมให้บริษัทหลักทรัพย์ที่ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ หรือนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุนที่ให้บริการลูกค้าในการซื้อขายหน่วยลงทุนผ่านบัญชีซื้อขายหน่วยลงทุนแบบไม่เปิดเผยชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน (omnibus account) จัดทำและจัดส่งรายงานข้อมูลผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมดังกล่าวต่อ ก.ล.ต. ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนของผู้ถือหน่วยลงทุนตั้งแต่ต้นทางเช่นเดียวกับ บลจ. เพื่อพัฒนาคุณภาพข้อมูลที่ใช้ในการกำกับดูแลความเสี่ยง การกำหนดนโยบายสนับสนุนธุรกิจ และคุ้มครองผู้ลงทุนเกี่ยวกับการให้คำแนะนำของผู้ให้บริการพร้อมการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีความเหมาะสม รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลภาพรวมให้ภาคธุรกิจใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการบริการที่ตอบโจทย์ตรงความต้องการของผู้ลงทุนยิ่งขึ้น

สำหรับการปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าว ก.ล.ต. ได้หารือกับผู้ประกอบธุรกิจและดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นเป็นการทั่วไปแล้ว โดยผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางของ ก.ล.ต. และเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นประโยชน์กับตลาดทุน ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ การออกหลักเกณฑ์นี้เป็นการดำเนินการภายใต้ข้อกำหนดของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว

Back to top button