SCGP ปักธงรายได้ปี 65 แตะ 1.5 แสนลบ. แย้ม Q4 เดินหน้า M&P ขยายธุรกิจ
SCGP ปักธงรายได้ทั้งปี 65 แตะ 1.5 แสนลบ. มั่นใจยอดขาย “บรรจุภัณฑ์กระดาษ” พุ่งรับไฮซีซั่น แย้ม Q4 เตรียมลุยตลาด “เอเชียใต้-แอฟริกา” เดินหน้าทำ M&P ขยายธุรกิจต่อเนื่อง ตั้งเป้าเข้าระบบรีไซเคิล 100% ในปี 68 ตอกย้ำองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อม
นายดนัยเดช เกตุสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานบัญชีและการเงิน บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ว่า ภาพรวมผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทมีรายได้ 12,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 36% โดยรายได้หลักมาจากธุรกิจทั้งหมดของบริษัท
ส่วนรายได้โดยรวมอยู่ที่ 15,848 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ การที่ผลกำไรลดลงสอดคล้องกับรายได้ของบริษัท ซึ่งมีสาเหตุมาจากต้นทุนเป็นหลัก รวมถึงค่าเสื่อมราคา และภาระดอกเบี้ย ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 5,351 ล้านบาท
สำหรับรายได้ตามส่วนของธุรกิจ สายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจร อยู่ที่ 82% โดยมีพอลิเมอร์แพคเกจจิ้งที่เพิ่มขึ้นมาอย่างชัดเจน คือเพิ่มขึ้นจาก 6 % ในปี64 มาเป็น 12 % ในปี65 เนื่องมาจากการที่บริษัทไปลงทุนเพิ่มเติมในประเทศเวียดนาม โดยภาพรวมที่เป็นพอลิเมอร์แพคเกจจิ้งและไฟเบอร์แพคเกจจิ้ง รวมกันอยู่ที่ 37 % อีกอย่างที่เพิ่มขึ้นมาคือธุรกิจรีไซเคิล มาจากการที่บริษัทเข้าไปทำ Merger & Partnership (M&P) เพิ่มเติมของ Peute Recycling B.V. และ Jordan Trading Inc. ในช่วง 9 เดือนนี้จะเข้ามาที่ 2% แต่เนื่องจากทั้งสองบริษัทดังกล่าวเพิ่งเข้ามาร่วมงานในไตรมาส 3/65 จึงยังมีไม่มากนัก แต่ถ้ามองไปข้างหน้าสัดส่วนตรงนี้จะเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทได้ขายสินค้าออกไปในกลุ่มประเทศอาเซียน(ไม่รวมประเทศไทย) สูงขึ้นเป็น 41% เทียบเท่ากับสัดส่วนที่ขายในไทย เนื่องจากต้องการขยายสัดส่วนธุรกิจออกไปสู่ภูมิภาคอาเซียนมากยิ่งขึ้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย และเวียนนาม นอกจากนั้นยังมีสัดส่วนรายได้ที่มาจากประเทศกลุ่มยุโรปและสหราชอาณาจักรอีกประมาณ 4% ที่เหลืออีก 14% เป็นการส่งออกอื่นๆ
ส่วนของการบริหารจัดการในสถานการณ์ปัจจุบัน มีปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท คือ สภาพเศรษฐกิจในประเทศจีน และความต้องการสินค้าของบริษัทในประเทศจีนที่ลดลง เนื่องจากในไตรมาส 3/65 เกิดสภาวะภัยแล้ง โดยเฉพาะในตอนใต้ของปะเทศจีน ซึ่งส่งผลให้เกิดการขาดแคลนพลังงาน ทำให้ภาครัฐต้องสั่งลดกำลังการผลิตลง อีกส่วนหนึ่งคือผู้บริโภคมีการจับจ่ายใช้สอยลดลง เนื่องมาจากการล็อคดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด และเรื่องธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่ยังคงยืดเยื้ออยู่
สำหรับปัจจัยเชิงบวก คือเรื่องราคาค่าขนส่งและค่าระวางเรือที่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการผ่อนคลายตู้สินค้าและสายเรือ ในส่วนเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระทบประชาชนทำให้กำลังซื้อลดลง สำหรับปัจจัยที่กระทบในระยะยาวคือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทได้มีการบริหารจัดการ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยการบริหารจัดการเงินสดและเงินลงทุนให้เหมาะสม
ทั้งนี้ บริษัทยังคงเน้นเรื่องการเติบโตอย่างมีคุณภาพด้วยการควบรวมกิจการต่อไป รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพให้มีมากยิ่งขึ้น โดยมีการขยายตลาดออกไปสู่ตลาดใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการส่งออก บริษัทมีการจัดส่งออกไปยังตลาดอื่นๆเพิ่มเติมในขณะที่ยังมีการเติบโตอยู่ เช่น ประเทศอินเดีย หรือตะวันออกกลาง
ส่วนต่อมาคือการสร้างมูลค่าให้กับลูกค้าผ่านนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีการใช้งบประมาณลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนา อยู่ที่ประมาณ 0.3 % ของยอดขาย ส่วนสุดท้ายคือการดำเนินธุรกิจ โดยยึดมั่นหลัก Environment Social Governance (ESG) อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายระยะยาว เช่น การทำให้สินค้าสามารถเข้าระบบรีไซเคิลได้ทั้งหมด ภายในปี 2568 รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 20 % ภายในปี 2573 ซึ่งที่ผ่านมามีความคืบหน้าเป็นไปตามแผนบ้างแล้ว
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนกันยาที่ผ่านมา บริษัทฯได้ทำ M&P กับ Jordan Trading Inc. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของวัตถุดิบ ทั้งจากผู้ซื้อในยุโรป อเมริกา และในอาเซียน ต่อมาคือการยกระดับการดำเนินงานในธุรกิจการรีไซเคิล การเพิ่มความแข็งแกร่งในส่วนความปลอดภัยของวัตถุดิบหลักที่นำมาใช้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ และการบริหารจัดการการขนส่ง
สำหรับแนวโน้มในไตรมาส 4/65 บริษัทยังคงเน้นการเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กร โดยการขยายธุรกิจและการควบรวมกิจการ รวมถึงการบริหารจัดการทั้งเงินสดและเงินลงทุน โดยยังเน้นการดำเนินงานในรูปแบบ M&Pต่อไป และขยายธุรกิจไปสู่ตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะในตลาดที่มีการเติบโตสูง เช่น ในเอเชียใต้ หรือแอฟริกา
ส่วนปัจจัยภายนอกมีเรื่องสถานการณ์พลังงานที่ยังมีต้นทุนอยู่ในระดับสูง แต่ในส่วนของวัตถุดิบหลักอ่อนตัวลงมาบ้างแล้ว โดยปัจจัยความเสี่ยงต่อบริษัท คือกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยและสถานการณ์เงินเฟ้อที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกไม่สามารถเติบโตได้มากนัก โดยเฉพาะความต้องการซื้อสินค้าจากประเทศจีน ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ของบริษัท แต่อย่างไรก็ตาม ในภูมิภาคอาเซียนยังมีการบริโภคที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง เนื่องมาจากการปิดประเทศ และการดำเนินกิจกรรมตามปกติในสถานการณ์การท่องเที่ยวที่เต็มรูปแบบมากขึ้น
โดยบริษัทยังคงคาดการณ์รายได้ปีนี้อยู่ที่ระดับ 150,000 ล้านบาท โดยเน้นการดำเนินงานตามหลักการเติบโตในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงสินค้าในกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ ต่อมาคือการขยายมาร์จิ้น โดยการสร้างนวัตกรรมและการสร้างความเป็น Solution ให้กับลูกค้ามากขึ้น และส่วนสุดท้ายคือการยึดมั่นในการดำเนินงานตามหลักการ ESG โดยอาศัยแนวทางของ SCG ESG 4 Plus