KJL เคาะราคาไอพีโอ 13.50 บ. เปิดจอง 9-11 พ.ย.นี้ ลุยสร้างโรงงาน รองรับธุรกิจโต
“กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค” หรือ KJL เคาะราคาไอพีโอ 13.50 บ. เปิดจอง 9-11 พ.ย.65 พร้อมเข้าเทรด mai พ.ย.65 ระดมทุนสร้างโรงงาน-ลงทุนเครื่องจักร เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในอนาคต รองรับการเติบโตยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
บริษัท กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค จำกัด (มหาชน) หรือ KJL กำหนดราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 30 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 13.50 บาท จากมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาทหุ้น โดยจะเปิดให้จองซื้อระหว่างวันที่ 9-11 พ.ย.65 โดยจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) หมวดสินค้าอุตสาหกรรมายในเดือน พ.ย.65
ทั้งนี้การกำหนดราคาของหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ ที่จะเสนอขายในครั้งนี้กระทำโดยการประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ด้วยวิธีอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (Price to Earnings Ratio : P/E) ทั้งนี้ ราคาหุ้นสามัญที่เสนอขายหุ้นละ 13.50 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิเท่ากับ 13.99 เท่า โดยคำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลการดำเนินงานในช่วง 4 ไตรมาสล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.64-30 มิ.ย.65 ซึ่งมีกำไรสุทธิรวมเท่ากับ 111.96 ล้านบาท และคำนวณจากจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วภายหลังเสนอขายต่อประชาชนในครั้งนี้จำนวน 116,000,000 หุ้น (Fully diluted) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นประมาณ 0.97 บาทต่อหุ้น
โดยอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิดังกล่าว คำนวณจากผลประกอบการในอดีต โดยที่ยังไม่ได้พิจารณาถึงผลการดำเนินงานหรือความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฯ ในอนาคต ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่นักลงทุนควรพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน
ขณะที่สัดส่วนหุ้นของผู้มีส่วนร่วมในการบริหารที่ไม่ติด Silent Period จำนวน 22,199,800 หุ้น คิดเป็น 19.14% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้
สำหรับวัตถุประสงค์การใช้เงินจากการระดมทุนครั้งนี้จำนวนประมาณ 384.97 ล้านบาท จะนำไปใช้ลงทุนก่อสร้างโรงงาน และเครื่องจักร 80 ล้านบาท, ลงทุนระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) 25 ล้านบาท,ลงทุนศูนย์นวัตกรรม KJL (KJL Innovation Campus) 200 ล้านบาท, ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ 29.97 ล้านบาท และ ชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น 50 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน KJL ได้แต่งตั้งให้ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย พร้อมแต่งตั้งผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย รวม 3 ราย ประกอบด้วย บล.เอเซียพลัส บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) และ บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง
นายพายุพัด มหาผล กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ KJL กล่าวว่า การกำหนดราคา IPO ที่ระดับ 13.50 บาทต่อหุ้น นับเป็นราคาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง KJL นับเป็นหุ้นที่มีความน่าสนใจในการลงทุน เนื่องจากมีศักยภาพความพร้อมในการผลิตและการบริการที่ได้เปรียบผู้ประกอบการรายอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน รวมถึงทีมผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์และประสบการณ์คร่ำหวอดในธุรกิจมาเกือบ 30 ปี ทำให้ลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศและระดับโลกให้การยอมรับ นับเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตต่อเนื่องและยั่งยืน
ด้านนายเกษมสันต์ สุจิวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KJL กล่าวว่า การเข้าระดมทุนในตลาด mai นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในอนาคตให้เติบโตแบบก้าวกระโดด สู่ความเป็นเลิศในอุตสาหกรรม ภายใต้การบริหารงานโดยใช้หลัก FIST ประกอบด้วย FLEXIBLE INNOVATION SPEED และ TRUSTWORTHY เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายในแต่ละอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่งมอบสินค้าที่ได้มาตรฐานและคุณภาพด้วยรวดเร็วและตรงเวลา ตลอดจนการสต๊อกสินค้าไว้สำหรับลูกค้าเพื่อเตรียมพร้อมส่งทันทีในวันเดียวกัน ทำให้ KJL ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าด้วยดีตลอดมา
ทั้งนี้ เงินที่ได้จากการระดมทุน จะนำไปใช้ในการขยายกิจการรองรับการเติบโตในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy โดยลงทุนก่อสร้างโรงงานและเครื่องจักร เพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อและการให้บริการในอนาคต , ติดตั้งระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า รวมถึงมลพิษจากการใช้พลังงานที่ก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าในองค์กรเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน , ลงทุนสร้างศูนย์นวัตกรรม (KJL Innovation Campus) เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างโอกาสการได้เปรียบทางการแข่งขัน , ชำระคืนหนี้และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านการเงินให้กับบริษัท พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน ในฐานะ “ผู้นำนวัตกรรม ตู้ไฟรางไฟ ขับเคลื่อนไฟฟ้า เพื่ออนาคตคุณ
สำหรับการดำเนินธุรกิจของ KJL ที่ผ่านมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยปี 62-64 มีรายได้รวมอยู่ที่ 753.67 ล้านบาท 708.18 ล้านบาท และ 845.78 ล้านบาท ตามลำดับ เติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ร้อยละ 5.93 ต่อปี ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 19.49 ล้านบาท 90.97 ล้านบาท และ 94.04 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่ 6 เดือนแรกของปี 65 บริษัทมีรายได้รวม 502.89 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 65.79 ล้านบาท เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 424.92 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 47.87 ล้านบาท
“การเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ครั้งนี้ จะทำให้บริษัทบริษัท มีความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงินพร้อมสนับสนุนความสามารถในการสร้างรายได้-กำไร และมีศักยภาพในการเติบโตสูงขึ้น สอดรับกับแนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโตต่อเนื่อง และความต้องการพลังงานสะอาดที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ช่วยผลักดันให้ผลการดำเนินงานของ KJL เติบโตอย่างก้าวกระโดด รองรับ Digital Economy พร้อมสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนในฐานะผู้นำนวัตกรรม ตู้ไฟรางไฟ ขับเคลื่อนไฟฟ้าเพื่ออนาคต” นายเกษมสันต์ กล่าว