ALT ลุยโครงข่ายใยแก้วนำแสงภาคพื้นน้ำ เริ่มบริการครึ่งหลังปี 66 ตั้งเป้ารายได้ 80 ลบ./ปี

ALT ลุยโครงข่ายใยแก้วนำแสงภาคพื้นน้ำเชื่อมเส้นทางกรุงเทพฯ-สตูล-สงขลา-มาเลเซีย คาดเริ่มบริการครึ่งหลังปี 66 ตั้งเป้าโกยรายได้ปีละ 80 ลบ. พร้อมเดินหน้าเพิ่มกำลังผลิต “โซลาร์รูฟ” เป็น 50 Mw ภายในปี 68 สร้างรายได้ 150 ลบ./ปี


นายสมบุญ เศรษฐ์สันติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานการเงินและบัญชี บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT เปิดเผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในวันที่ 10 พ.ย. 65 ว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 3/65 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 286.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 282.42 ล้านบาท โดยธุรกิจด้านการให้บริการโครงข่ายมีรายได้เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 30.6% ของรายได้รวมในไตรมาส 3/64 เพิ่มมาเป็น 43.4% ในไตรมาส 3/65 หรือจาก 86.31 ล้านบาท เป็น.26 124 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากการให้บริการรับเหมาก่อสร้างอยู่ที่ 142.33 ล้านบาท ลดลง 21.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 182 ล้านบาท ในส่วนการขายสินค้าอยู่ที่ 19.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 13.87 ล้านบาท

โดยบริษัทมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 11.85 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทในกลุ่มมีรายได้เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจึงส่งผลให้บริษัทได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น ส่วนกำไรสุทธิไตรมาส 3/65 อยู่ที่ 28.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 185% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดขาดทุน 33.50 ล้านบาท  ส่งผลให้รายได้รวมของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 65 อยู่ที่ 824.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 802.72 ล้านบาท

ส่วนกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 155.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 65.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 93.84 ล้านบาท เนื่องจากกำไรขั้นต้นจากการให้บริการโครงข่ายเติบโตขึ้น และกำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปี 65 พลิกกลับมาอยู่ที่ 22.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 134.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 65.03 ล้านบาท โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการบริหารต้นทุนโครงการ และการให้บริการติดตั้ง Solar rooftop ให้กับโรงงานของลูกค้า

นางปรียาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ Network Infrastructure , Smart Energy , Smart City และ Smart Platform โดยมุ่งเน้นงานจัดระเบียบสายสื่อสาร ซึ่งขณะนี้กำลังเจรจากับพันธมิตรที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนด้วย ซึ่งจะช่วยเสริมโอกาสทางธุรกิจให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น และคาดว่าจะบรรลุผลการเจรจาภายในปี 65

ด้านการให้บริการแบนด์วิดท์ระหว่างประเทศยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดให้บริการสถานีชายฝั่งเพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างประเทศ (Cable Landing Station) แห่งแรกที่ จ.สตูล และได้ส่งมอบให้ลูกค้าไปเมื่อ ก.ค. 65 โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการใช้ Fiber Optic ลง หรือย้ายการติดตั้งลงไปใต้ดิน เพื่อสร้างทัศนียภาพที่ดีขึ้น รองรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ถึงแม้ว่าต้นทุนในการดำเนินงานในส่วนดังกล่าวค่อนข้างสูง แต่บริษัทได้มีการแชร์ต้นทุนการใช้ทรัพยากรจึงช่วยให้ต้นทุนในส่วนนี้ลดลง นอกจากนั้น บริษัทยังมุ่งเน้นที่จะเป็น ASEAN Digital Hub โดยการทำให้ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางของเทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงได้จัดสร้างสถานีเคเบิลใต้น้ำ ทั้งในพื้นที่ สตูล สงขลา และระยอง

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนที่จะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อแหล่งผลิตขนาดใหญ่ในภูมิภาค ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น เพื่อผลักดันให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ ที่ต้องการขับเคลื่อนดิจิทัลของไทยให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

โดยเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 65 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2565 มีมติอนุมัติการลงทุนในโครงการก่อสร้างวางระบบโครงข่ายสื่อสารใยแก้วนำแสง เพื่อรองรับการเชื่อมต่อโครงข่ายสื่อสารภาคพื้นน้ำระหว่างชายฝั่งทะเลตะวันตกถึงชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยให้ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เกทเวย์ จำกัด หรือ IGC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ALT ถือหุ้นอยู่ 100% เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

สำหรับโครงการดังกล่าวเชื่อมต่อเส้นทางกรุงเทพฯ-สตูล-สงขลา-มาเลเซีย เป็นระยะทางประมาณ 2,200 ก.ม. ด้วยมูลค่างบประมาณการลงทุน 595 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้จากการให้บริการโครงข่ายเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 50-80 ล้านบาท และมีเป้าหมายแล้วเสร็จพร้อมให้บริการภายในครึ่งปีหลังของปี 66

ด้านการให้บริการบริหารจัดการเพื่อลดค่ากระแสไฟฟ้า (Private PPA solar rooftop) บริษัทได้ให้บริการแก่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีความต้องการจากลูกค้าในปริมาณสูง ซึ่งบริษัทกำลังเตรียมการจัดหาเงินทุนเพื่อรองรับการขยายตัวต่อไป โดยตั้งเป้าหมายลดมลภาวะให้ประเทศ ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 50 Mwh ภายในปี 68 สร้างรายได้ 150 ล้านบาทต่อปี และมีกำไร 50 ล้านบาทต่อปี

Back to top button