BGRIM โกยรายได้ Q3 โต 57% กางแผนเพิ่มสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้าพันธมิตร
BGRIM เผยผลงานไตรมาส 3 รายได้เพิ่ม 56.9% ตั้งเป้าเพิ่มกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม-เพิ่มสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับพันธมิตร
ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปี 2565 มีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 56.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จาก 1) ราคาขายไฟฟ้าต่อหน่วยให้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพิ่มขึ้นจากกลไกการส่งผ่านค่าเชื้อเพลิงตามราคาก๊าซธรรมชาติ และการขึ้นค่า Ft 2) การเติบโตอย่างต่อเนื่องของปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรม (IU) ในประเทศ จากลูกค้ารายใหม่ จำนวน 33.4 เมกะวัตต์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 3) การเพิ่มขึ้นของปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้แก่ลูกค้า IU ในประเทศเวียดนาม หลังจากการล็อคดาวน์ในช่วงไตรมาส 3 ปีก่อน และ 4) การเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม กำลังการผลิต 16 เมกะวัตต์ ในประเทศไทย เมื่อเดือนสิงหาคม 2564
ด้านกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน-ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่อยู่ที่ 25 ล้านบาท ลดลง 95.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาก๊าซธรรมชาติถึง 107.9% ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจกลุ่มลูกค้า IU ในประเทศ ซึ่งคิดเป็น 18% ของรายได้รวม
“ลูกค้าอุตสาหกรรมยังคงเป็นปัจจัยหลักของรายได้ที่เติบโตขึ้น ทั้งจำนวนลูกค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้น ราคาค่า Ft ที่ทยอยปรับขึ้น และปริมาณไฟฟ้าที่ขายแก่ลูกค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้แก่ลูกค้า IU ในประเทศ ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้น 3.7% เป็น 2,581 กิกะวัตต์-ชั่วโมง บี.กริม เพาเวอร์ ยังคงขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีลูกค้ารายใหม่เชื่อมเข้าระบบตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าประมาณ 50-60 เมกะวัตต์ ในปี 2566” ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว
ส่วนปัจจัยสนับสนุนผลการดำเนินงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้าของบี.กริม เพาเวอร์ คือ การปรับขึ้นของค่า Ft โดยในเดือนกันยายน – ธันวาคม 2565 กกพ. ได้ประกาศปรับขึ้นอีก 0.6866 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็น 0.9343 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง บวกกับการเข้าซื้อกิจการอื่นๆ ในพอร์ตการลงทุน การเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้า SPP เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและประสิทธิภาพสูง การขยายฐานลูกค้า IU อย่างต่อเนื่อง และการควบคุมค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา บี.กริม เพาเวอร์ ยังได้ร่วมกับ แอร์ ลิควิด (ประเทศไทย) ลงนามสัญญาซื้อขายการรับรองสิทธิพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) ซึ่งข้อตกลงของการรับรองดังกล่าว นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสนับสนุนรูปแบบการจัดหาพลังงานอย่างยั่งยืน สำหรับภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยอีกด้วย
ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า ในปีนี้ บี.กริม เพาเวอร์ ยังเดินหน้าขยายความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เมื่อเดือนกันยายน 2565 Cleanergy ABP บริษัทร่วมของ อมตะ บี.กริม เพาเวอร์, SCG Cleanergy และ Amata Corporation ได้ร่วมลงนามสัญญาพันธมิตรทางธุรกิจกับ Amata Facility Services เพื่อสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ในการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดสำหรับผู้ผลิตอุตสาหกรรมภายในนิคมอุตสาหกรรม อมตะ ซิตี้ และเมื่อเดือนมิถุนายน บี.กริม เพาเวอร์ และ EDL-Gen บริษัทย่อยของรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (Electricité Du Laos – EDL) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) เพื่อร่วมขยายการพัฒนาธุรกิจไฟฟ้า ประเภทพลังน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ระบบส่งและการจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานสะอาดในเขตภูมิภาคอาเซียน
ส่วนความคืบหน้าของโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในปีนี้มีอีกหลายโครงการ ประกอบด้วย การก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า SPP 4 โครงการ (ABP1R, ABP2R และ BGPM1&2R) เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม กำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งหมด 560 เมกะวัตต์ มีความคืบหน้า 91-98% มีกำหนดการ COD ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า SPP ใหม่อีก 2 โครงการ (BGPAT2 และ BGPAT3) กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 280 เมกะวัตต์ มีความคืบหน้า 48-66% มีกำหนดการ COD ในปี 2566 และการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าแบบผสมผสาน อู่ตะเภา เฟสแรก มีความคืบหน้า 78% มีกำหนดการ COD ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566
ด้านรางวัลและประกาศเกียรติคุณ ในเดือนตุลาคม 2565 บี.กริม เพาเวอร์ ได้รับรางวัล Sustainability Excellence ประเภท “Rising Stars” จากงาน SET Awards 2022 นอกจากนี้ ยังได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment: THSI) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)
รวมถึงได้รับคะแนนในระดับดีเลิศ (ห้าดาว) ในโครงการสำรวจและติดตามพัฒนาการด้านการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies: CGR) ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 จัดโดย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
ขณะที่ในเดือนกันยายน 2565 บี.กริม เพาเวอร์ รับรางวัล “องค์กรที่มีการดำเนินกิจกรรมด้านคาร์บอนต่ำและยั่งยืนในระดับดาวรุ่ง” (Low Carbon and Sustainable Business: LSCB) ประจำปี 2565 ซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นของ บี.กริม เพาเวอร์ ในการบรรลุเป้าหมาย Net-Zero Carbon Emission ภายในปี 2593 และในเดือนสิงหาคม คว้า 3 รางวัล ด้านการปฏิบัติตามาตรการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจาก ประจำปี 2564 (EIA Monitoring Awards 2021) สำหรับโรงไฟฟ้าอุตสาหกรรม อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ระยอง) 2 และ 5 (ABPR2&5) และ อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 4 (ABP4)