สธ. ออกประกาศคุมเข้ม “ช่อดอกกัญชา” ป้องกันใช้ผิดวัตถุประสงค์
สธ. ออกประกาศคุมเข้ม “ช่อดอกกัญชา” ไม่ให้ใช้ผิดวัตถุประสงค์ของการคุ้มครองและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากสมุนไพร
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 65 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 โดยเป็นการปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 16 มิ.ย. 65 มีสาระสำคัญในการควบคุมการใช้ประโยชน์จากส่วนของช่อดอกกัญชาไม่ให้มีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ของการคุ้มครองและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากสมุนไพร
“ก่อนที่รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุขจะลงนาม ประกาศฉบับใหม่นี้ได้ผ่านการเห็นชอบของคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ซึ่งได้รับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาชน ซึ่งได้แสดงความกังวลต่อกรณีที่อาจมีการนำช่อดอกไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ จึงควรปรับปรุงข้อกฎหมายให้มีความชัดเจน เข้มงวดยิ่งขึ้น คุ้มครองกลุ่มเปราะบาง ขณะเดียวกันประชาชนยังสามารถใช้ประโยชน์กัญชาในการดูแลสุขภาพได้ กัญชายังคงได้รับการส่งเสริมให้เป็นพืชสำคัญทางการแพทย์และการผลิตในภาคอุตสาหกรรม” นางสาวไตรศุลี กล่าว
โดยประกาศฉบับใหม่ซึ่งจะมีผลบังคับใช้นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษานี้ กำหนดให้ส่วนของช่อดอกกัญชา เป็นสมุนไพรควบคุม ผู้ใดประสงค์จะศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูปเพื่อการค้า จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาต ตามมาตรา 46 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 โดยผู้รับใบอนุญาตต้องจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มา การนำไปใช้ และจำนวนที่เก็บไว้ ณ สถานประกอบการ และให้รายงานข้อมูลต่อนายทะเบียนตามแบบที่อธิบดีกำหนดด้วย ในส่วนของผู้รับใบอนุญาตให้ส่งออก ต้องแจ้งรายละเอียดการส่งออกต่อผู้อนุญาตเป็นรายครั้ง
สำหรับผู้ที่ได้รับอนุญาตเพื่อศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูปเพื่อการค้า ตามมาตรา 46 อยู่ก่อนประกาศฉบับใหม่จะมีผลบังคับจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศฉบับใหม่ด้วย
นอกจากนี้ประกาศฉบับใหม่ยังได้เพิ่มความเข้มงวดเพื่อควบคุมการจำหน่ายช่อดอกของกัญชา โดยห้ามจำหน่ายให้กับกลุ่มเปราะบางได้แก่ ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร นักเรียน นิสิต หรือนักศึกษา ห้ามจำหน่ายในสถานที่ประกอบการ เว้นแต่การจำหน่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้านที่ได้รับการรับรองตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน และผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม
รวมถึงห้ามจำหน่ายผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ห้ามโฆษณาทุกช่องทางเพื่อการค้า ที่สำคัญยังห้ามจำหน่ายในวัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา, หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก, สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุกด้วย